News
icon share

เบื้องลึกไม่ย้าย "ขนส่งหมอชิต" ดึง 2 แสนคนป้อนเมืองใหม่-ฮับบางซื่อ

LivingInsider Report 2016-11-23 10:51:26
เบื้องลึกไม่ย้าย

 

 

หลังเงื้อง่าอยู่นาน ในที่สุดแผนย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพหรือหมอชิต 2 ไปอยู่ที่ใหม่ก็ล่มกลางคัน พลันที่กรมธนารักษ์เตรียมเดินเครื่องเมกะโปรเจ็กต์คอมเพล็กซ์กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในแผนพัฒนาจะเจียดพื้นที่ประมาณ 1 แสน ตร.ม.ให้ "บขส.-บริษัท ขนส่ง จำกัด" ย้ายกลับไปที่เดิมตามที่มีข้อตกลงกันไว้เมื่อหลาย 10 ปีที่ผ่านมา 
 


จึงเป็นที่มาบทสรุปสุดท้าย "บขส." ขอ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย"ปักหลักอยู่ที่เดิมต่อ แต่ลดไซซ์สถานีขนส่งจากเดิม 75 ไร่ เหลือ 50 ไร่ พร้อมปรับบทบาทเป็นสถานีย่อยรองรับการเดินทางของประชาชนในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก 
 


จากเดิม "คมนาคม" มีนโยบายให้ส่งมอบพื้นที่คืนให้ ร.ฟ.ท.ภายในปี 2561 เพื่อใช้พื้นที่สร้างสถานีกลางบางซื่อของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยให้ บขส.ไปใช้พื้นที่ด้านข้างซึ่งเป็นอู่รถ ขสมก.ขนาด 16.7 ไร่แทน และโยก ขสมก.ย้ายไปอยู่ใต้ทางด่วนที่ ร.ฟ.ท.จัดที่ไว้ให้ 7.5 ไร่ใกล้กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง 
 


ซึ่งที่ผ่านมา "บขส." เตรียมเม็ดเงินร่วม 2 พันล้านบาทซื้อที่ดินและสร้างสถานีแห่งใหม่ในย่านรังสิต โดยจ้าง "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง" ศึกษาออกแบบรายละเอียด กำหนดใช้พื้นที่ 80 ไร่ ในรัศมีด้านเหนือของถนนพหลโยธิน จะก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ รองรับจำนวนเที่ยววิ่งได้ 2,260 เที่ยวต่อวัน และผู้โดยสาร 28 ล้านคนต่อปี 
 


แต่หลังออกประกาศให้เอกชนเสนอที่ดินไป 3 ครั้งก็คว้าน้ำเหลว เมื่อพื้นที่ติดปัญหาไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ดีลซื้อที่ดินถูกพับ จากนั้น "บขส." เสนอแผนจะย้ายไปอยู่สถานีรังสิตที่ยังมีที่ดินเหลือพัฒนา 45 ไร่ แต่ไป ๆ มา ๆ แผนก็ล้มอีก จนล่าสุดมีข้อยุติจะอยู่ที่เก่า แต่ปรับเวลาเช่ากับ ร.ฟ.ท.ใหม่ 
 


"ออมสิน ชีวะพฤกษ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ให้ร.ฟ.ท.หารือกับ บขส.เนื่องจากไปตรวจการย้ายรถตู้ข้ามจังหวัดไปอยู่ที่ บขส.แล้วเห็นว่าถ้าย้ายไปรังสิต ทำให้ประชาชนจะไม่สามารถเดินทางต่อเชื่อมกับระบบขนส่งอื่นสะดวก อีกทั้งงบประมาณย้าย บขส.มีแค่ 80 ล้านบาท ดังนั้นการอยู่ที่เดิมจะทำให้ บขส.ประหยัดงบฯก่อสร้างกว่า 2,000 ล้านบาท 
 


"การมีขนส่งหมอชิตไว้ตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะ บขส.มีคนมาใช้บริการวันละ 2.2 แสนคนต่อวัน จะช่วยเพิ่มคนเข้า-ออกในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่รถไฟจะพัฒนาโซน A จำนวน 35 ไร่ รูปแบบเชิงพาณิชย์ มีโรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า ที่จอดรถ มูลค่า 9,363 ล้านบาท ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบรางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ไม่ว่ารถไฟฟ้าใต้ดิน บีทีเอสและรถไฟ"
 


นายออมสินกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ โซน C เนื้อที่ 105 ไร่ อยู่บนพื้นที่ของสถานีขนส่งหมอชิตปัจจุบัน จะกันพื้นที่ไว้สำหรับสถานีย่อย บขส. ส่วนที่เหลือจะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและการพักผ่อนหย่อนใจ มูลค่าลงทุน 34,076 ล้านบาท ทั้ง 2 แปลงให้เอกชนลงทุน PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 จะเริ่มได้ในปี 2560 แล้วเสร็จปี 2564 
 


"มีเอกชนหลายรายสนใจ เช่น กลุ่มเซ็นทรัลสนใจพื้นที่โซน A รวมถึงญี่ปุ่นก็สนใจจะพัฒนารอบสถานีกลางบางซื่อรูปแบบเชิงพาณิชย์ รับกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกเหมือนโมเดลต้นแบบที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาเมืองและเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับรถไฟ"แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าว
 


นายวุฒิชาติกัลยาณมิตรผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า รอ บขส.ทำแผนบริหารจัดการสถานี ซึ่งที่ปรึกษาทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกัน หลังจากหารือกันแล้ว มีข้อสรุปให้พื้นที่ บขส.จำนวน 50 ไร่ คาดว่าเซ็นสัญญาใหม่ไม่เกิน ธ.ค. 2559
 


พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อัตราค่าเช่าที่ของ ร.ฟ.ท.อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันจ่ายให้ ร.ฟ.ท.ปีละ 22-23 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่ หลังหารือกับรถไฟจากพื้นที่ปัจจุบันมี 80 ไร่ จะปรับเหลือแค่ 50 ไร่ ส่วน 30 ไร่ ต้องคืนให้รถไฟเพื่อทำการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โซน C 
 


โดยพื้นที่ 50 ไร่ จะปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยให้เพียงพอต่อการเดินรถ จะสร้างอาคารขนาด 2 ชั้น ปรับพื้นที่ลานจอดรถทัวร์ รถตู้สาธารณะ และอาคารผู้โดยสาร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท จากแผนเดิมจะสร้างบนที่ดิน 16.7 ไร่ ลงทุน 1,500 ล้านบาท เท่ากับประหยัดจากเดิม 1,000 ล้านบาท ในอนาคตหากการก่อสร้างพื้นที่บริเวณหมอชิตเดิมของกรมธนารักษ์แล้วเสร็จ จะมีพื้นที่ให้ บขส.ทำเป็นจุดจอดรถตู้อีก 40,000 ตร.ม.

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1479709642

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider