News
icon share

หวั่นทับซ้อน2รถไฟฟ้า สีแดง-ส้มตะวันตก อาคม"สั่งรถไฟ-รฟม.เร่งเคลียร์ให้จบช่วงทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช

LivingInsider Report 2016-12-09 10:28:53
หวั่นทับซ้อน2รถไฟฟ้า สีแดง-ส้มตะวันตก อาคม

 

 

"อาคม" สั่งสแกนแผนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดง-สีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เหตุแนวเส้นทางซ้อนทับกัน เผยมี 2 ทางเลือก ตัดออกหรือสร้างทั้ง 2 โครงการ เผยทุกโปรเจ็กต์บรรจุในแผนเร่งด่วนปี"60 พร้อมกดปุ่มประมูล ด้าน กทม.ผนึกรถไฟ รุดเคลียร์พื้นที่ศาลาน้ำร้อน ขยายถนนแก้รถติดรอบศิริราช เดินหน้าโครงการพระราชดำริรัชกาลที่ 9

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กำลังประเมินการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเพื่อแก้การจราจรโดยรอบพื้นที่ศิริราชและฝั่งธนบุรี ระหว่างสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและตลิ่งชัน-ศาลายา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระยะทางรวม 20 กม. เงินลงทุน 19,042 ล้านบาท กับสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 85,288 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากแนวเส้นทางทับซ้อนกันอยู่ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

 


"สายสีแดงที่ไปศิริราชก็เป็นพระราชดำริของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตอนที่ท่านประทับที่ศิริราชก็มีพระราชดำริให้นักเรียนแพทย์ที่ต้องอยู่ชานเมืองเดินทางยังไงเรามีเรือคนที่อยู่ฝั่งกทม.ก็ข้ามเรือมา แต่คนอยู่อีกฝั่งไม่มีขนส่งสาธารณะ ซึ่งการรถไฟฯออกแบบตัวรถไฟสายสีแดงสถานีศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ตอนแรกเพื่อรองรับศูนย์กลางการแพทย์ ตรงนี้ตอบสนองกับประชาชน นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ มีชาวบ้านที่เชื่อมต่อชานเมืองได้ไปถึงศาลายาต่อเชื่อมไปนครปฐม แต่ว่าตอนหลัง รฟม.ออกแบบสายสีส้มเพื่อลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและไปถึงตลิ่งชัน ตรงนี้ก็มี 2 แนวคิด 1.จะเลือกสร้างโครงการใดโครงการหนึ่ง และ 2.ถ้าไม่ติดประเด็นใช้งบประมาณลงทุนมากก็ควรจะสร้างทั้ง 2 โครงการ"
 

 

หวั่นทับซ้อน2รถไฟฟ้า สีแดง-ส้มตะวันตก อาคมสั่งรถไฟ-รฟม.เร่งเคลียร์ให้จบช่วงทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช

 

 

นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาตัดสินใจ ทั้งนี้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางนี้ มีวัตถุประสงค์การรองรับผู้โดยสารคนละเป้าหมายกัน ซึ่งสายสีแดงของการรถไฟฯเป็นรถไฟชานเมือง จะทำหน้าที่รองรับการเดินทางระหว่างเมืองกับเมืองจากสถานีหัวลำโพงกับต่างจังหวัดปริมณฑล เช่น สมุทรสงคราม นครปฐม ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่จะมีรถไฟฟ้าสมัยใหม่มาวิ่งด้วย ขณะที่สายสีส้มเป็นรถไฟที่ขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องส่งคนไปเชื่อมต่อข้างนอกให้ได้

 


ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2560 มีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและตลิ่งชัน-ศาลายาด้วย ซึ่งโครงการผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว พร้อมขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดประมูลก่อสร้าง

 


รูปแบบจะเป็นการปรับปรุงเขตทางรถไฟเดิมให้รองรับระบบรถไฟชานเมืองที่จะปรับเป็นรถไฟฟ้าได้ระยะทางรวม20กม.วงเงินลงทุน 19,042 ล้านบาท มี 7 สถานี ได้แก่ สถานีธนบุรี-ศิริราช สถานีจรัญสนิทวงศ์ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีตลิ่งชัน (สถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา

 

 

หวั่นทับซ้อน2รถไฟฟ้า สีแดง-ส้มตะวันตก อาคมสั่งรถไฟ-รฟม.เร่งเคลียร์ให้จบช่วงทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช

 

 

ส่วนสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชันระยะทาง16.4 กม. เงินลงทุน 85,288 ล้านบาท อยู่ในแผนปี 2560 เช่นกัน ทาง รฟม.อยู่ระหว่างทบทวนปรับปรุงข้อมูลแนวเส้นทาง จะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.นี้ มีทั้งหมด 12 สถานี ได้แก่ สถานีประชาสงเคราะห์ สถานีดินแดง สถานีราชปรารภ สถานีประตูน้ำ สถานีราชเทวี สถานียมราช สถานีหลานหลวง สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานีสนามหลวง สถานีศิริราช สถานีบางขุนนนท์ และสถานีตลิ่งชัน (สถานีร่วมกับสายสีแดง)

 


"เร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุป จะเลือกสร้าง 1 สายทาง หรือจะสร้างทั้ง 2 สายทาง แต่ปรับแนวที่ทับซ้อนกัน อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเลือกแนวทางไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด"



ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ ลงพื้นที่ตรวจเส้นทางขยายถนนเลียบทางรถไฟศิริราช-ฉิมพลี ตามโครงการต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช และโครงการขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาส และสะพานทางข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่สถานีรถไฟธนบุรี เขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช



ซึ่ง กทม.ได้เริ่มงานโครงการต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราชแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา จะแล้วเสร็จวันที่ 30 เม.ย. 2561 โดยขยายสะพานอรุณอมรินทร์เป็น 6 ช่องจราจร และสร้างทางยกระดับข้ามแยกศิริราช 2 ช่องจราจร พร้อมทางขึ้น-ลงจากริมคลองบางกอกน้อยเชื่อมกับสะพานข้ามคลองบางกอกน้อยเพื่อไปแยกอรุณอมรินทร์ จะมีผลกระทบกับแผงค้าของตลาดศาลาน้ำร้อน จำนวน 1-4 แผง ที่ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับทาง ร.ฟ.ท.



"กทม.ขอให้รถไฟและผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งยังมีหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบอีก อาทิ กองเรือเล็ก โรงพยาบาลศิริราช และอาคารที่ทำการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 7 ก็ได้เตรียมเงินค่าชดเชยไว้แล้ว ตั้งเป้าจะเสร็จทันตามระยะเวลาที่กำหนด"

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1481091371

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider