Favorite
ด้วยช่วงวัยที่แตกต่าง ไลฟ์สไตล์ชีวิตจึงไม่เหมือนกัน ทำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายเจเนอเรชันต้องเผชิญปัญหาตามมาอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการอยู่อาศัย ที่ฟังก์ชันบ้านไม่ได้ตอบโจทย์สมาชิกทุกคน และแม้ว่าพอฟังดูแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก แต่เมื่อลองมองให้ลึกลงไปจะพบว่าการออกแบบบ้านให้สามารถรองรับคนทุกวัยได้นั้น มีผลต่อการใช้ชีวิตและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยอย่างมาก วันนี้เราเลยนำวิธีออกแบบบ้านตอบโจทย์คนทุกวัย มาแชร์ให้เพื่อน ๆ ที่มีสมาชิกครอบครัวหลากหลาย Gen ได้นำไปเป็นแนวทางค่ะ
การออกแบบบ้านสำหรับชาว Baby Boomer และ Silent Gen
ชาว Baby Boomer เป็นคนที่เกิดปี 2489-2507 หรือมีช่วงอายุ 60-78 ปี ส่วน Silent เป็นคนที่เกิดปี 2468-2488 หรือมีช่วงอายุ 79-99 ปี ซึ่งทั้งสองเจเนอเรชันนี้เป็นช่วงวัยที่ร่างกายไม่ได้มีพละกำลังเหมือนกับตอนหนุ่มสาว ทั้งยังมีโรคภัยไข้เจ็บเยอะ ดังนั้นหากครอบครัวไหนมีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายอยู่ด้วยกันแล้ว เวลาที่จะสร้างบ้านหรือซื้อบ้านจำเป็นจำต้องคำนึงถึงการออกแบบฟังก์ชันที่เหมาะสมกับคนในวัยนี้
เริ่มที่ห้องนอนของชาว Baby Boomer ควรจะอยู่ที่ชั้นล่าง เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อย ๆ ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยภายในห้องนอนจำเป็นต้องติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินไว้บริเวณหัวเตียง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้กดกริ่งส่งสัญญาณให้ลูกหลานเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ขณะเดียวกันพื้นห้องนอนผู้สูงอายุ รวมถึงพื้นบ้านในโซนอื่น ๆ ควรใช้วัสดุกันลื่น เช่น พื้น SPC เนื่องจากคน Gen นี้มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และเสี่ยงที่จะสะดุดล้มได้ง่าย ดังนั้นการเลือกวัสดุปูพื้นที่ดูดซับแรงกระแทกได้ดี ก็จะช่วยลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุลงได้ นอกจากนี้ พื้นประเภทนี้ไม่มีส่วนประกอบของ Formaldehyde ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังทนต่อการขีดข่วน ยิ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์
ในส่วนของห้องน้ำหากสามารถทำภายในห้องนอนได้ก็จะยิ่งดี แต่ถ้าไม่ ก็ควรให้มีประตูเชื่อมต่อระหว่างห้องนอนของผู้สูงอายุและห้องน้ำที่อยู่ด้านนอกได้โดยตรง เพื่อที่เวลาเข้าห้องน้ำจะได้ไม่ต้องเดินไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากลางคืน ที่สำคัญพื้นห้องน้ำควรปูด้วยกระเบื้องผิวหยาบ เพื่อป้องกันการลื่นล้ม และไม่ต้องทำพื้นต่างระดับเพื่อกั้นโซนเปียก-แห้ง แต่ให้ทำรางระบายน้ำแทน พร้อมทั้งติดราวจับที่ผนังเพื่อช่วยพยุงตัวเมื่อมีอาการหน้ามืด หรืออาจจะก่อที่นั่งอาบน้ำด้วยก็ได้
นอกจากนี้ หากผู้สูงอายุบ้านไหนนั่งวีลเเชร์ แล้วทางเข้าบ้านเป็นพื้นต่างระดับ ก็ให้ทำทางลาดสำหรับเข็นรถเข้าออกตัวบ้านด้วย โดยความชันของทางลาดควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 15 องศา หรือ 3:12 นิ้ว เพื่อให้สามารถเข็นวีลแชร์ได้สะดวก และลดอุบัติเหตุระหว่างเคลื่อนย้าย
การออกแบบบ้านสำหรับคน Gen X
คน Gen X เป็นคนที่เกิดปี 2508-2523 หรือมีช่วงอายุระหว่าง 44-59 ปี เป็นช่วงวัยที่ทำงานมาหลายปี จนมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน และเหลือเวลาอีกไม่กีปีก็จะเกษียณแล้ว คนวัยนี้จึงเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงควรออกแบบบ้านให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยการทำหน้าต่างตามโซนต่าง ๆ ภายในบ้านและห้องนอนเพื่อให้อากาศไหลเวียนดี รวมถึงเลือกสีทาภายในที่มีฉลาก “Zero VOCs” ซึ่งเป็นสีที่ไร้กลิ่น ปราศจากสารปรอท ตะกั่ว และสาร Formaldehyde ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ
อีกทั้งคน Gen X หากมีลูกก็น่าจะอยู่ในวัยทำงาน รวมถึงอาจจะมีหลานด้วย ดังนั้นจึงควรออกแบบฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในบ้านให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เช่น การทำห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ใกล้กับพื้นที่รับประทานอาหาร โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมากั้น เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวที่แม้จะอยู่คนละโซน ยังสามารถพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กันได้ รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่กิจกรรมให้สมาชิกทุกคนได้มาทำร่วมกันในวันหยุดหรือในโอกาสพิเศษ เช่น การเนรมิตคอร์ตยาร์ด หรือทำสวนหลังบ้านไว้สำหรับจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ภายในครอบครัว
การออกแบบบ้านสำหรับคน Gen Y
สำหรับ Gen Y หรือกลุ่ม Millennials คือคนที่เกิดปี 2524-2539 หรือมีช่วงอายุ 28-43 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานที่ต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกทั้งวันแล้วกลับมาบ้านพร้อมกับความเหนื่อยล้า ดังนั้นหลักการสำคัญในการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์คนเจเนอเรชันนี้ก็คือ “ทำทุกวันให้เป็นวันพักผ่อน”
โดยการรังสรรค์มุมนั่งเล่นให้ชาว Gen Y ได้บรรเทาความเหนื่อยล้า ผ่านการใช้โทนสีขาวสะอาดตาที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย พร้อมนำเอาธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน เช่น การใช้เฟอร์นิเเจอร์ไม้ หรือการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในโซนนี้ เพื่อเติมเต็มห้วงเวลาพักผ่อนให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เนื่องจากธรรมชาติจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ดี
หรือหากใครทำงานในรูปแบบ Work From Home ก็ควรมีห้องที่ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการทำงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งห้องให้อยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ การใช้โทนสีสว่างเพื่อให้สามารถคิดงานได้ลื่นไหล รวมไปถึงการใช้ผนังกันเสียง เพื่อป้องกันเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนสมาธิในขณะทำงาน ส่วนขนาดของห้องก็ต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการวางเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่เมื่อติดตั้งทุกอย่างจนครบแล้ว ก็ไม่ทำให้ห้องดูอึดอัดจนเกินไป
นอกจากนี้ ด้วยความที่ Gen Y เป็นวัยที่ใช้เวลาไปกับการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ไหนจะต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไป-กลับที่ทำงานนานเป็นชั่วโมงอีก ทำให้คนเจเนอเรชันนี้ค่อนข้างรักความสะดวกสบายพอสมควร ดังนั้นการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์คน Gen Y จึงควรนำเทคโนโลยี Smart Home เข้ามาใช้ เพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะ หลอดไฟอัจฉริยะ Smart Locks เป็นต้น
การออกแบบบ้านสำหรับคน Gen Z
ต่อกันที่ Gen Z คือคนที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 12-27 ปี ซึ่งถือเป็นเจเนอเรชันที่โตมากับเทคโนโลยี ดังนั้นการออกแบบบ้านที่ตอบโจทย์คนเจเนอเรชันนี้จึงหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมไฟฟ้าผ่านสมาร์ตโฟน หรือระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ
อีกทั้งการที่ชาว Gen Z เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้หลายคนหันมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ดังนั้นครอบครัวไหนมีสมาชิกเป็นชาว Gen Z ที่เป็นสายคอนเทนต์ ก็ควรทำห้องสตูดิโอส่วนตัวเอาไว้รองรับ เนื่องจากการถ่ายทำคอนเทนต์มักใช้เสียงที่ค่อนข้างดัง จนบางครั้งอาจไปรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้
โดยการออกแบบห้องสตูดิโอจะต้องใช้วัสดุที่สามารถดูดซับเสียงได้ดี เพื่อไม่ให้เสียงของเราไปรบกวนคนอื่น ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เสียงจากภายนอกเข้ามาทำลายสมาธิในระหว่างทำคอนเทนต์ด้วย หลังจากนั้นก็ตกแต่งห้องให้สวยงาม และเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้พร้อม เพียงเท่านี้ก็ได้ห้องสตูดิโอส่วนตัวสำหรับถ่ายคอนเทนต์ที่บ้านตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ Gen Z
การออกแบบบ้านสำหรับคน Gen Alpha
มาถึงเจเนอเรชันเด็กสุดกับ Gen Alpha คือคนที่เกิดปี 2553–2568 ซึ่งใครที่มีสมาชิกครอบครัววัยจิ๋วแบบนี้ ควรออกแบบพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอนให้น่ารักสมวัย ควบคู่ไปกับการตกแต่งภายในที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ออกแบบมุมอ่านหนังสือ หรือมุมเล่นเกมให้เด็กได้พัฒนาสมอง การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปทรงแปลกใหม่ เพื่อกระตุ้นจินตนาการ
รวมไปถึงการตกแต่งห้องด้วยสีสันต่าง ๆ ที่มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ เช่น สีชมพูช่วยให้รู้สึกอ่อนโยน สีฟ้าช่วยในการจัดการอารมณ์ได้ดี สีเขียวช่วยกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้น นอกจากนี้ ควรปูพื้นห้องนอนเด็กด้วยพื้น SPC ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกได้ดี เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บจากการหกล้มของเด็ก ๆ ได้ อีกทั้งการที่พื้นประเภทนี้ไม่มีส่วนประกอบของสารก่อมะเร็ง จึงเป็นผลดีต่อน้อง ๆ หนู ๆ ในระยะยาวด้วย
การออกแบบบ้านยุคใหม่ไม่ใช่แค่ให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอต่อสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังต้องมีฟังก์ชันรองรับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของคนแต่ละวัยด้วย เพราะการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเจเนอเรชันต่าง ๆ จะช่วยแก้ Pain Point ในการอยู่อาศัยร่วมกันของคนหลากหลายวัยได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัยให้ปลอดภัย ต้อนรับวันผู้สูงอายุ
6 ไอเดีย ออกแบบบ้านแนวญี่ปุ่น ดูอบอุ่นในสไตล์ที่แตกต่าง
ที่อยู่อาศัยแบบไหนเรียกว่า “สไตล์โคโลเนียล” (Colonial Style)
ยอดเยี่ยมมากๆค่ะ
เป็นกำลังใจให้ค่ะ เขียนดี รอติดตาม
ดีค่ะ มีแต่เรื่องน่าสนใจ
บอความดี ขออนุญาตแชร์ครับ