Favorite
คิกออฟบ้านเพื่อคนไทย (Public Housing) ที่รัฐบาลทำขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือคนไทยให้สามารถซื้อหรือเช่าบ้านได้ในราคาถูก ที่ผ่านมาก็มีโครงการที่มีลักษณะนี้มาแล้ว อย่างบ้านเอื้ออาทรที่เราต่างคุ้นหูกันเป็นอย่างดี และอีกหลาย ๆ โครงการ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปย้อนดูภาพรวมโปรเจกต์เหล่านั้นกัน
Photo Credit by : www.บ้านเพื่อคนไทย.th
โครงการบ้านเอื้ออาทร
บ้านเอื้ออาทร เป็นโครงการที่พัฒนาและบริหารโดยการเคหะแห่งชาติ ซึ่งรูปแบบที่พักอาศัยก็มีทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และอาคารชุดสูงไม่เกิน 5 ชั้น เริ่มต้นที่ประมาณ 390,000 บาท โดยผู้ที่มีสิทธิซื้อบ้านเอื้ออาทรจะต้องมีรายได้รวมกันทั้งครอบครัวไม่เกิน 40,000 บาท/เดือน ไม่ติดแบล็กลิสต์ และไม่ติดเครดิตบูโรกับสถาบันการเงิน ส่วนทำเลที่ตั้งของบ้านเอื้ออาทรโครงการต่าง ๆ มักอยู่ในโซนชานเมืองของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในพื้นที่นอกเมือง
Photo Credit by : www.nha.co.th
โครงการเคหะชุมชนและบริการ
เคหะชุมชนและบริการ ก็เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยรูปแบบที่พักอาศัยมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ขนาดที่ดินประมาณ 16-60 ตารางวา ราคาเริ่มต้น 600,000 บาท อาคารชุด พื้นที่ใช้สอยประมาณ 32-50 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 500,000 บาท และอาคารพาณิชย์ 1 โครงการ ขนาดที่ดิน 20 ตารางวา ราคาเริ่มต้น 3.79 ล้านบาท
จะเห็นว่าโครงการเคหะชุมชนและบริการมีราคาสูงกว่าบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นโครงการขายขาดเหมือนกัน ดังนั้นใครที่มีรายได้สูงขึ้นมาหน่อย แต่อาจจะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเข้าถึงบ้านจัดสรรหรือคอนโดที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนได้ โครงการนี้ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
หมายเหตุ : ภาพห้องตัวอย่างโครงการบ้านเพื่อคนไทยประเภทคอนโดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 30 ตารางเมตร
โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ
บ้านคนไทยประชารัฐ เป็นการนำที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมาทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาท/เดือน โดยมีทั้งบ้านแฝด บ้านแถว และอาคารชุด ที่มีพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 28 ตารางเมตร ราคา 350,000-700,000 บาท ซึ่งเป็นการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว โดยกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยและผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ
อย่างไรก็ตาม แรกเริ่มโครงการนี้มีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมด 8 พื้นที่ ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ลำปาง นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ และอุดรธานี แต่ทำสำเร็จเพียง 1 โครงการ ซึ่งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หมายเหตุ : ภาพห้องตัวอย่างโครงการบ้านเพื่อคนไทยประเภทคอนโดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 30 ตารางเมตร
โครงการบ้านเคหะสุขประชา
บ้านเคหะสุขประชา เป็นโครงการพัฒนาโดยการเคหะแห่งชาติ ไฮไลต์อยู่ตรงที่นอกจากจะเป็นบ้านพักอาศัยแล้ว ยังมีพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ทำเป็นตลาดนัดชุมชน คอมมูนิตี้มอลล์ หรือร้านสะดวกซื้อ ให้ลูกบ้านมาค้าขายหรือทำงานบริการ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
โดยรูปแบบบ้านเคหะสุขประชาจะแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. บ้านแฝดชั้นเดียวและ 2 ชั้น ขนาดที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ค่าเช่า 2,400 บาท/เดือน เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือคนพิการ 2. แบบบ้านแฝดชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น ขนาดที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ค่าเช่า 2,900 บาท/เดือน ตอบโจทย์กลุ่มคนโสด
3. แบบบ้านแฝดชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น ขนาดที่ดิน 17.5 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร ค่าเช่า 3,400 บาท/เดือน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน และ 4. แบบบ้านแฝดชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น ที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร ค่าเช่า 3,900 บาท/เดือน เหมาะสำหรับคนที่อยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว
Photo Credit by : www.nha.co.th
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้ถูกเวณคืนที่ดิน ข้าราชการเกษียณที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง รวมถึงผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีผู้ดูแลอยู่ด้วย ที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้รวมทั้งครอบครัวไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน
ส่วนทำเลที่ตั้งโครงการจะอยู่ในโซนชานเมืองของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่ง ณ ตอนนี้ เคหะสุขประชา ได้นำร่องไปแล้ว 2 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ บ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 ยูนิต และบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 ยูนิต
Photo Credit by : www.nha.co.th
โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย
อีกหนึ่งโครงการที่การเคหะแห่งชาติทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางเข้าถึงที่อยู่อาศัยง่ายขึ้นคือ โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ให้สิทธิกับคนทั่วไปที่มีรายได้รวมทั้งครอบครัวไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน ในสัดส่วน 50% และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 50%
โดยรูปแบบของยูนิตพักอาศัยจะเป็นอาคารชุด พื้นที่ใช้สอบประมาณ 28-30 ตารางเมตร ค่าเช่าเริ่มต้นที่ 1,200 บาท/เดือน ส่วนทำเลที่ตั้งโครงการจะกระจายไปตามอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล และต่างจังหวัด
Photo Credit by : www.nha.co.th
รู้จัก “บ้านเพื่อคนไทย”
และแล้วก็มาถึงโครงการใหม่แกะกล่องจากรัฐบาลที่เพิ่งคิกออฟเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา นั่นคือ บ้านเพื่อคนไทย ที่ได้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาเป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการ โดยที่อยู่อาศัยจะเป็นแบบ Leasehold ให้สิทธิถือครอง 99 ปี อัตราผ่อนเริ่มต้นประมาณ 4,000 บาท/เดือน ระยะเวลา 30-50 ปี แต่ถ้าผ่อนชำระครบ ก็จะได้สิทธิต่ออีก 60 ปี แถมยังได้สินเชื่อพิเศษจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5%
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการนำที่ดินที่มีศักยภาพที่สุด 25 แห่งทั่วประเทศของ รฟท. มาพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการ 4 โครงการนำร่องภายในปี 2568-2569 ได้แก่
1. พื้นที่บางชื่อ นิคม กม.11 ขนาดพื้นที่ 9.38 ไร่ ทำเลที่ตั้งอยู่หลังสำนักงานใหญ่ ปตท. ใกล้แหล่งช็อปปิงอย่างเซ็นทรัลลาดพร้าว เพียง 500 เมตร ทั้งยังเดินทางสะดวกสบาย ใกล้ MRT สายสีน้ำเงินสถานีพหลโยธิน 500 เมตร รวมถึงอยู่ไม่ไกลจาก Hub แห่งการคมนาคมอย่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2.5 กิโลเมตร
Photo Credit by : www.บ้านเพื่อคนไทย.th
2. พื้นที่ธนบุรี (ศิริราช) ขนาดพื้นที่ 23 ไร่ อยู่ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน ซึ่งห่างจากรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีส้มในอนาคตเพียง 800 เมตร ทั้งยังใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีบ้านพักพนักงานรถไฟ จึงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกที
3. พื้นที่เชียงราก จังหวัดปทุมธานี ขนาดพื้นที่ 18.05 ไร่ อยู่ใกล้ถนนเลียบคลองเปรมประชากร ซึ่งห่างจากสถานีรถไฟเชียงราก 4.4 กิโลเมตร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 4.4 กิโลเมตร, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4.4 กิโลเมตร และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9 กิโลเมตร
4. พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 17.75 ไร่ ตัวโครงการอยู่ติดสถานีรถไฟเชียงใหม่ บนถนนเจริญเมือง และถนนทุ่งโฮเต็ล ซึ่งห่างจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย 2.5 กิโลเมตร, มหาวิทยาลัยพายัพ 2.6 กิโลเมตร และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.5 กิโลเมตร ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เพียง 1.3 กิโลเมตร
Photo Credit by : www.บ้านเพื่อคนไทย.th
จะเห็นว่าไฮไลต์สำคัญของทั้ง 4 โครงการคือ ทำเลที่ตั้งที่ค่อนข้างโดดเด่นพอสมควร ทั้งเดินทางง่าย และอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อย่าง 3 โครงการในกรุงเทพฯ ล้วนอยู่ในพื้นที่ชั้นในทั้งหมด รวมถึงอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ ตอบโจทย์ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนที่ไม่มีรถส่วนตัว
ส่วนโครงการที่เชียงใหม่ก็อยู่ในตัวเมือง ซึ่งแตกต่างจากโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ผ่าน ๆ มา ที่มักจะตั้งอยู่ในแถบชานเมืองของกรุงเทพฯ หรือถ้าเป็นต่างจังหวัด ส่วนมากก็จะอยู่ไกลจากตัวเมืองออกไป ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีแผนขยายโครงการบนที่ดินของการรถไฟที่ยังเหลืออีกกว่า 38,000 ไร่ทั่วประเทศ
Photo Credit by : www.บ้านเพื่อคนไทย.th
สำหรับรูปแบบที่พักอาศัยในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 1 ชั้น และคอนโด โดยบ้านเดี่ยวจะมีขนาดที่ดิน 50 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร ที่จอดรถ 2 คัน ส่วนคอนโดจะเป็นแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร และ 2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร, 45 ตารางเมตร และ 51 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าให้สเปซเยอะกว่าคอนโดทั่วไปที่เปิดตัวใหม่ในยุคนี้ ที่มีขนาดเริ่มต้นประมาณ 24-26 ตารางเมตร จึงเหมาะทั้งสำหรับอยู่คนเดียว และอยู่กันเป็นครอบครัว
โดยผู้ที่มีสิทธิซื้อบ้านเพื่อคนไทย จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยที่บรรลุนิติภาวะ ณ วันลงทะเบียน ต้องมีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท/เดือน ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทุกประเภท ไม่เคยได้สิทธิในโครงการบ้านเพื่อคนไทย และต้องไม่ติดเครดิตบูโร
นอกจากนี้ มีเงื่อนไขว่า 1 คน มีสิทธิซื้อบ้านหรือคอนโดในโครงการได้แค่ 1 ยูนิตเท่านั้น ทั้งยังห้ามโอนสิทธิในโครงการภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันจดทะเบียน และห้ามนำบ้านไปให้คนอื่นใช้ประโยชน์ ยกเว้นแต่เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยผู้ที่สนใจบ้านเพื่อคนไทยสามารถเยี่ยมชมห้องตัวอย่างได้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 17-31 มกราคม 2568 เวลา 10.00-21.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และหลังจากนั้นจะมีการปรับวันเวลาให้เยี่ยมชมตามความเหมาะสมต่อไป
หมายเหตุ : ภาพห้องตัวอย่างโครงการบ้านเพื่อคนไทยประเภทคอนโดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 30 ตารางเมตร
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ราคาที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูง นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทำโครงการบ้าน คอนโด หรือแฟลต ออกมาขายและปล่อยเช่าในราคาถูกจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง รวมถึงกลุ่ม First Jobber ได้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น
ขอบคุณที่มา
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1051889
บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อควรรู้ก่อนซื้อบ้านมือสองจาก “กรมบังคับคดี”
รู้จักบ้าน NPA คืออะไร มีข้อดีข้อเสียยังไง ก่อนตัดสินใจซื้อ
กู้ซื้อบ้านมือสอง มีขั้นตอนอย่างไร ใช้อะไรบ้าง มือใหม่ต้องรู้!
กรุงเทพฯ แบ่งโซนยังไง พื้นที่ชั้นในชั้นนอกคือตรงไหน เช็กเลย!
ขอบการเขียนรีวิวของเว็บนี้จัง
เขียนบทความตามกระแส ทันเหตุการณ์ดีค่ะ
ขอบคุุณบทความดีดีค่ะ