Favorite
เคยสงสัยกันไหม? ถ้าเรากำลังผ่อนบ้านหรือคอนโดอยู่ดี ๆ แล้ววันนึงเกิดเรื่องไม่คาดฝัน เราด่วนจากไปแบบไม่ทันตั้งตัว หนี้ก้อนที่เหลืออยู่จะเป็นภาระของใครต่อ? คนในครอบครัวต้องจ่ายแทนไหม? หรือธนาคารมีวิธีจัดการยังไง? วันนี้ LivingInsider จะพาไปหาคำตอบกัน!
เมื่อบ้านกลายเป็น “มรดกหนี้”
เป็นเรื่องปกติที่หลังจากเสียชีวิต ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีจะตกทอดไปสู่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม และทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย แล้วถ้าทรัพย์สินที่ว่าคือบ้านที่ยังผ่อนไม่หมดล่ะ ใครจะต้องรับผิดชอบต่อ? ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือมรดกของผู้เสียชีวิต ได้รวมไปถึงหนี้สินตามกฎหมายทั้งหมดที่มีด้วย (ยกเว้นหนี้นอกระบบ) ดังนั้นหนี้บ้านที่ยังเหลืออยู่ ทายาทก็ต้องทำการผ่อนต่อกับธนาคารนั่นเอง โดยหลังจากที่ธนาคารได้รับแจ้งการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่จะต้องเรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดก เข้ามารับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี ถ้าเกินกว่านี้ จะถือว่าคดีหมดอายุความ ตามมาตรา 1754
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน” หมายความว่า ถ้ามียอดหนี้คงเหลือ 1 ล้านบาท แต่ทรัพย์มรดกทั้งหมด (ไม่ใช่หนี้) มีเพียง 5 แสนบาท ทายาทก็ใช้หนี้แค่ 5 แสนบาทเท่านั้น
หากทายาทไม่สามารถผ่อนหนี้บ้านต่อได้ต้องทำยังไง?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงไม่มีใครอยากมีหนี้ก้อนโตติดตัวหากไม่จำเป็น ยิ่งถ้าทายาทคนนั้นมีภาระหนี้ของตัวเองอยู่ด้วยแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะสละมรดก หรือบางเคสให้ธนาคารประเมินแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ธนาคารก็จะยึดบ้านหลังนั้นเพื่อขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ต่อไป และถ้าราคาประเมินบ้านต่ำกว่ายอดหนี้
อย่างเช่น ประเมินทรัพย์ได้ 1.5 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้คงเหลือมีจำนวน 1.7 ล้านบาท ส่วนต่างอีก 2 แสน ก็จะถูกเรียกเก็บจากทรัพย์มรดกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก หรือทรัพย์สินอื่นใดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีทรัพย์สินอื่น ๆ ให้เรียกเก็บแล้ว ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน
ถ้ามีผู้กู้ร่วม หลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ใครต้องรับภาระผ่อนบ้านต่อ?
ในกรณีที่เป็นการกู้ร่วม แล้วได้มีการระบุว่า “ผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” หลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต กรรมสิทธิ์และยอดหนี้ในส่วนของคนคนนั้นก็จะตกทอดไปสู่ทายาทตามปกติ โดยจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนชื่อหลังโฉนดจากผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตมาเป็นชื่อของทายาท ที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่ที่บ้านนั้นตั้งอยู่ หลังจากนั้นทายาทก็จะต้องผ่อนบ้านร่วมกับผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายหนึ่งต่อไปในจำนวนครึ่งหนึ่งของยอดหนี้คงเหลือล่าสุด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าทายาทจะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และธนาคารประเมินว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระ
แล้วถ้าผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตไม่มีทายาท หรือทายาทไม่สามารถผ่อนหนี้บ้านต่อได้ ผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะต้องรับผิดชอบหนี้ทั้งหมดเอง หากสามารถแบกรับภาระได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผ่อนเองคนเดียวไม่ไหวก็อาจจะต้องหาผู้กู้ร่วมใหม่ หรือเจรจากับธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อน หรือรีไฟแนนซ์ ขึ้นอยู่กับนโยบายและเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป แต่ถ้าสุดท้ายไม่สามารถรับผิดชอบภาระดังกล่าวได้จริง ๆ ก็จะต้องขายบ้านเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ต่อไป ทั้งนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จัดการมรดกและทายาทของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตก่อน
ผ่อนบ้านต่อคนเดียว ≠ ได้กรรมสิทธิ์ทั้งหมด
สำหรับใครที่ธนาคารอนุมัติให้ผ่อนคนเดียวต่อได้ อย่าเพิ่งดีใจว่าคุณจะได้เป็นเจ้าของบ้านคนเดียว เพราะกรรมสิทธิ์อีกครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นของทายาทของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตอยู่ดี ต้องการให้ตัวเองเป็นเจ้าของบ้าน 100% ให้ปรึกษากับธนาคารว่า ผู้กู้ร่วมเสียชีวิตและต้องการให้ผู้กู้ร่วมที่เหลือ (ตัวเอง) ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมด จากนั้นธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อน ถ้าผ่านการพิจารณาแล้วก็ต้องไปตกลงซื้อขายกับทายาทของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต พร้อมทำเอกสารให้ถูกต้อง แล้วนำหลักฐานไปยื่นให้ธนาคารอนุมัติ ก่อนจะไปทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน
ไม่อยากทิ้งมรดก “หนี้บ้าน” ให้ลูกหลาน ประกัน MRTA คือทางออก
ไม่ใช่แค่ทายาทเท่านั้นที่ไม่อยากรับมรดกหนี้ ตัวเราเองก็ไม่อยากส่งต่อภาระให้ลูกหลานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรซื้อประกัน MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance) กับธนาคารตอนที่ทำเรื่องกู้ซื้อบ้านไปด้วยเลย เพราะประกัน MRTA เป็นประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ที่เข้ามารับผิดชอบหนี้บ้านตามวงเงินคุ้มครอง เมื่อผู้กู้เสียชีวิตหรือพิการถาวร ไม่สามารถหารายได้ต่อไปได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเลือกทำประกัน MRTA ในวงเงินคุ้มครองเท่ากับหนี้บ้านที่กู้มา เมื่อเราเสียชีวิต ประกันจะช่วยจ่ายหนี้บ้านที่เหลือทั้งหมด ทำให้ทายาทหรือผู้ที่ต้องการรับกรรมสิทธิ์บ้านไม่ต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายหนี้ต่อแทนเรา การทำประกัน MRTA จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการวางแผนการเงินและดูแลภาระหนี้บ้านในระยะยาว
หากคุณกังวลว่า “หนี้บ้าน” จะกลายเป็นภาระของคนในครอบครัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันถึงขั้นเสียชีวิต ควรทำประกัน MRTA ไว้ เพื่อจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันบ้านก็จะได้ตกทอดสู่ทายาทโดยไม่ต้องรับผิดชอบผ่อนต่อ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อควรรู้ประกัน MRTA คนมีบ้าน/คอนโด ควรทำไหม
กลเม็ดเคล็ด (ไม่) ลับ กับเทคนิคโปะบ้านและคอนโด ที่ทุกคนสามารถทำได้
จับจุดปลดหนี้ให้ไว ด้วยตัวเองแบบถูกวิธี
บ้าน-ที่ดินมรดก ตกทอดถึงใครบ้าง? และต้องเสียภาษีหรือไม่
ชวนรู้จักสระว่ายน้ำระบบต่าง ๆ มีข้อดี-ข้อเสียยังไง ก่อนตัดสินใจสร้างไว้ที่บ้าน
2024-06-21
เรื่องน่ารู้ก่อนซื้อที่ดินต่างระดับ (Sloping Land)
2022-05-11
8 ต้นไม้ กันฝุ่น PM 2.5 ปลูกที่บ้านได้
2024-03-26
แบบบ้านแบบไหนที่เหมาะสมกับสภาพอากาศประเทศไทย
2024-10-24
ปัญหายอดฮิตของคนอยู่คอนโดมีอะไรบ้าง
2024-09-13
ดีมากค่ะ มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
เนื้อหาตอบโจทย์ผู้สนใจได้ดีค่ะ
ขอบคุุณบทความดีดีค่ะ
โดยรวมดีนะคะ
รีวิวเขียนดีจังค่ะ