News
icon share

บีทีเอส-ซีเมนส์ สนเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 40 ปี 4 หมื่นล้าน

LivingInsider Report 2017-02-02 10:27:00
บีทีเอส-ซีเมนส์ สนเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 40 ปี 4 หมื่นล้าน

 

 

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ส่งแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-สุวรรณภูมิ กับส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง เงินลงทุน 41,863.30 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาโครงการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) PPP อนุมัติ
 


ดึงเอกชนลงทุน 40 ปี 4 หมื่น ล.
 


เนื่องจากโครงการนี้จากผลการศึกษาได้ข้อสรุปจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนในกิจการของรัฐ ปี 2556 รูปแบบ PPP Net Cost รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งานโยธา ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ส่วนเอกชนลงทุนขบวนรถ บริหารงาน และบำรุงรักษาทั้งระบบตลอดอายุสัมปทาน 40 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของเอกชนที่สนใจจะลงทุนด้วยเช่นกัน แต่ทั้งหมดเป็นรูปแบบการลงทุนเบื้องต้นที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์โครงการ
 


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) มีมติให้เอกชนร่วมลงทุนบริการเดินรถของแอร์พอร์ตลิงก์ และเป็นผู้บริหารจัดการหลักในรถไฟชานเมืองสายสีแดงแทน ร.ฟ.ท. แต่ ร.ฟ.ท.ขอบริหารรถไฟสายสีแดงเอง ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะให้เอกชนมาร่วมดำเนินการโครงการตามมติ คนร.
 


โดยมีกรอบวงเงินทั้งโครงการ 41,863.30 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา ค่ารื้อย้ายและค่าเวนคืนที่ดิน 1,390 ล้านบาท งานโยธา 16,174 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 8,481 ล้านบาท และจัดหาตู้รถไฟฟ้า 15,816 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะลงทุน 26,046 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 15,816 ล้านบาท
 


"เอกชนที่สนใจลงทุนต้องรับโอนธุรกิจจากรถไฟ มี 3 ส่วน คือ บุคลากร สินทรัพย์และสิทธิ์ในการเดินรถ ในส่วนของบุคลากรจะมีการโอนถ่ายไปจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรถไฟ เพราะเอกชนรายใหม่ที่เข้ามาจะได้สิทธิ์เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์สายเก่าและสายใหม่" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
 


ปีนี้เปิดประมูล-ตอกเข็มปีหน้า
 


หลังจากบอร์ด PPP อนุมัติ ตามแผนงานของ ร.ฟ.ท. คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นเดือน มิ.ย.จะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล และเปิดยื่นซองในเดือน ก.ย. และประมาณเดือน ธ.ค. 2560-ม.ค. 2561 จะเสนอให้ ครม.อนุมัติ และเซ็นสัญญาก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2561 จะใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี คาดว่าจะเปิดบริการส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 20.7 กม. ในปี 2565 จะมีผู้โดยสารประมาณ 217,140 เที่ยวคน/วัน ในขณะที่ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ จะให้เอกชนเข้ามาเดินรถในปี 2561
 


"ระบบรถที่จะนำมาวิ่งบริการจะเป็นระบบเดิม ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. ซึ่งเอกชนจะต้องซื้อรถในปี"63 จำนวน 52 ตู้ เป็นรถประเภท City Line ทั้งหมด"
 


แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากการทดสอบความสนใจของเอกชนในการลงทุนที่มีเทคโนโลยีระบบรถไฟและระบบที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าทางบริษัท ซีเมนส์ จำกัด, บริษัท มารุเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อัลสตรอม (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสนใจในหลักการของโครงการ เนื่องจากโครงการมีขนาดใหญ่และได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อศึกษาข้อมูลสำหรับความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมโครงการ
 


บีทีเอสสนใจลงทุน
 


ด้านบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงได้สอบถามไปยังบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี มีความสนใจในการลงทุนโครงการตั้งแต่ก่อสร้างงานโยธา ระบบไฟฟ้า ขบวนรถ การดำเนินการและซ่อมบำรุง ซึ่งโครงการมีผลตอบแทนด้านการเงินสูงมากกว่า 10% แต่มีข้อเสนอให้รัฐกำหนดรูปแบบการสนับสนุนให้เอกชน เช่น การรับประกันปริมาณผู้โดยสาร พร้อมกับเปิดโอกาสในการรับคนของแอร์พอร์ตลิงก์เดิมเข้าร่วมงานด้วย
 


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า สนใจลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และมีแนวเส้นทางต่อเชื่อมกับบีทีเอสที่สถานีพญาไท แต่ขอดูรายละเอียดของโครงการ
 


"รูปแบบลงทุนจะให้สัมปทานเอกชน 40 ปีก็น่าสนใจ แต่ต้องขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจด้วย เพราะแนวจะซ้อนทับกับสายสีแดง และสายสีเขียว ซึ่งรัฐจะต้องช่วยสนับสนุนการลงทุนให้เอกชนด้วย"
 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สคร.สั่งให้ ร.ฟ.ท.ทำรายละเอียดข้อมูลโครงการเพิ่มเติมให้เสร็จใน 30 วัน เพื่อให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น ก่อนเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณา เช่น สมมุติฐานการวิเคราะห์รูปแบบโครงการ การจัดทำทดสอบความสนใจเอกชน ที่ท้วงติงว่าสอบถามเอกชนน้อยเกินไป คาดว่าจะเสนอให้ ครม.อนุมัติไม่ทันเดือน เม.ย.นี้

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1485951510

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider