News
icon share

รัฐเร่ง ตั๋วร่วม กลางปีนี้ขึ้น 4 รถไฟฟ้า-รถเมล์ 2 พันคันฉลุย

LivingInsider Report 2017-02-10 13:24:28
รัฐเร่ง ตั๋วร่วม กลางปีนี้ขึ้น 4 รถไฟฟ้า-รถเมล์ 2 พันคันฉลุย

 

 


นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลางปี 2560 จะนำระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมใช้กับรถไฟฟ้า 4 สายทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ สีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) สีน้ำเงิน รวมถึงรถเมล์ ขสมก. และร้านค้าสะดวกซื้อหลังจากติดตั้งระบบเสร็จเดือน ก.พ.-เม.ย. และทดสอบระบบเดือน พ.ค.-มิ.ย.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 



"บัตรแมงมุมช่วงแรกยังเป็นแค่ระบบตั๋วต่อเพื่อให้สะดวกในการเดินทางหลายระบบด้วยตั๋วใบเดียว โดยอัตราค่าโดยสาร และอัตราค่าแรกเข้าแต่ละสายยังคงราคาเดิม ทั้งนี้ จะเจรจากับผู้ประกอบการสำหรับการมอบส่วนลด จะมีประชุมหารือกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า 4 สายเรื่องปรับปรุงระบบให้รองรับกับบัตรแมงมุมในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ ส่วนการใช้ระบบตั๋วร่วมกับทางด่วน มอเตอร์เวย์ เรือโดยสาร จะเริ่มเดือน ธ.ค.นี้"
 

 

สำหรับการใช้บัตรแมงมุมกับรถโดยสารของ ขสมก. ระยะแรกจะนำมาใช้กับรถเมล์จำนวนกว่า 2,600 คัน ทั้งรถเดิม และรถที่จัดซื้อใหม่ โดย ขสมก.จะติดตั้งระบบ e-Ticket ในรถโดยสารจะรองรับบัตรแมงมุมได้ด้วย ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างประกวดราคาหาเอกชนติดตั้งระบบ คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างเดือน มี.ค. เริ่มทยอยติดตั้งและทดสอบระบบในเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ 

 

 

"ปีแรกคาดว่าจะมีผู้ใช้บัตรแมงมุม 20-30% หรือ 5-6 แสนเที่ยวคนของจำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารและรถไฟฟ้ากว่า 1 ล้านเที่ยวคน/วัน" นายเผด็จกล่าวและว่า นอกจากนี้ ระบบตั๋วแมงมุมยังบูรณาการร่วมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการ หรือบัตรผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถใช้เป็นบัตรเดินทางคล้ายกับบัตรแมงมุมได้ด้วย ซึ่งในบัตรจะฝังชิปบัตรแมงมุมไว้พร้อมมีวงเงินให้ในการเดินทาง ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้าออกบัตรสวัสดิการเดือน ต.ค.นี้กว่า 10 ล้านใบ จะรองรับการยกเลิกนโยบายรถเมล์และรถไฟฟรี โดยผู้ถือบัตรดังกล่าวสามารถใช้กับระบบ e-Ticket รถเมล์ได้ 
 

 

ส่วนที่ใช้ร่วมกับรถไฟกำลังหารือวิธีการใช้ ทั้งติดตั้งเครื่อง e-Ticket ในห้องจำหน่ายตั๋ว 200 สถานี ใช้หางตั๋วขึ้นเงิน หรือ จัดทำบัตรขึ้นรถไฟฟรี ซึ่งปัจจุบันรถเมล์และรถไฟฟรีจะหมดเขตเดือน เม.ย.นี้ แต่อาจจะมีการขยายเวลาให้สอดคล้องกับการออกบัตรสวัสดิการจะแล้วเสร็จเดือน ต.ค.นี้ 
 

 

ด้านความคืบหน้าหน่วยงานบริหารจัดการตั๋วร่วม (CTC) มอบให้ สนข., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย เป็นผู้บริหารจัดการจนกว่าจะจัดตั้งบริษัท ตั๋วร่วม จำกัด มีรัฐและเอกชนถือหุ้นร่วมกันจะแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม จะเสนอ คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน ก.พ.นี้ จะให้อำนาจหน่วยงานที่กำกับดูแลตั๋วร่วม กำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมตั๋ว และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 
 

 

"การให้เอกชนร่วมลงทุนในบริษัท CTC อยู่ระหว่างหารือเอกชนมาลงทุนแบบ PPP Fast Track จะใช้เวลา 9 เดือน แต่ยังไม่มีข้อสรุปเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และการลงทุนอาจจะไม่ได้กำไรเพราะเป็นการบริการสาธารณะ" นายเผด็จกล่าวและว่าบริษัทกลางที่เอกชนร่วมลงทุนจะใช้เงินทุนเริ่มต้น 600 ล้านบาท ดูเรื่องการจัดการค่าใช้บริการแต่ละระบบ ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเงิน แบ่งสรรเงินให้กับระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ จะมีรายได้จากการคิดค่าฟี โดยรัฐจะให้สัมปทาน 15-20 ปี ส่วนกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ควบคุมค่าฟีจะไม่ให้เกิน 1.5% ของค่าขนส่ง และกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารจะมี 4 รูปแบบ คือ 1.คิดอัตราเดียว เช่น 20 บาท 30 บาท 40 บาท 2.เก็บตามระยะทาง โดยคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว 3.เก็บตามระยะทาง ลดค่าแรกเข้าครั้งที่ 2 เช่น 10-30% อยู่ที่นโยบายรัฐบาล และ 4.คิดตามโซนพื้นที่ 
 

 

ส่วนค่าโดยสารร่วมอาจจะเป็นเรื่องยากเพราะยังติดสัญญาของผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้ารายเดิมในเรื่องการคำนวณรายได้หากจะใช้ค่าโดยสารร่วมกันต้องแก้สัญญาใหม่และรัฐจะต้องซัพพอร์ตบางส่วนให้ แต่หากเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ต่อไปจะระบุไว้ในสัญญาสัมปทานว่าทุกสายทางต้องเข้าระบบตั๋วร่วม เช่น สายสีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวต่อขยาย สีชมพู และสีเหลือง
 

 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า จะเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยวันที่ 3-30 เม.ย.นี้อีกรอบ จากก่อนหน้านี้มีผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 8 ล้านคน จากทั่วประเทศ 14 ล้านคน ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะได้รับบัตรสวัสดิการเพื่อรับมาตรการช่วยค่าครองชีพ เช่น รถไฟฟ้าฟรี นอกเหนือจากรถเมล์และรถไฟฟรี

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1486689609

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider