Favorite
กทม.หน้ามืดหาเงินจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 8 หมื่นล้าน เจรจาเซ็งลี้งานโยธา 6 หมื่นล้านให้รัฐ รับภาระเฉพาะงานระบบ-อาณัติสัญญาณ ขอผ่อนชำระปี"73 บีทีเอสเสือนอนกินรับค่าจ้างเดินรถทั้งโครงข่าย3.5 แสนล้าน ขอผู้ถือหุ้น 3 เม.ย.ลงทุนสายสีชมพู-เหลือง
นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) บริษัทวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เป็นระยะเวลา 25 ปี นับจากปี 2560-2585 วงเงิน 1.649 แสนล้านบาท เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. กับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.7 กม. รวม 31.5 กม. ซึ่ง กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
จ้างบีทีเอสเดินรถ
"เดิมบีทีเอสเสนอค่าจ้างมาประมาณ 1.9 แสนล้านบาท แต่ต่อรองลดลงมาให้ 2 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาจ้างจะครบกำหนดในปี"85 พร้อมกับการเดินรถที่เซ็นไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง กทม.จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้บีทีเอสเป็นรายปีตลอดสัญญาจ้าง"
ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงใหม่นั้น ทาง กทม.จ้างเคทีเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และเคทีได้จ้างบีทีเอสเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะใช้วิธีการที่เรียกว่า ซัพพลายเออร์เครดิต โดยบีทีเอสจะหาแหล่งเงินทุนให้ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ และเคทีจะชำระคืนให้ภายหลัง ได้เซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อปลายปี 2559
โยนรัฐรับภาระ
ส่วนค่างานโยธา 6 หมื่นล้านบาท ที่ กทม.ต้องจ่ายคืนให้ รฟม. ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจะเจรจากับกระทรวงการคลัง ขอให้รัฐรับภาระหนี้ด้านโครงสร้างพื้นฐานไป ส่วน กทม.จะรับภาระหนี้ค่างานระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะชำระคืนทั้งก้อนปี 2573 เนื่องจากสัมปทานจะหมดอายุและทรัพย์สินและรายได้ค่าโดยสารจะตกเป็นของ กทม. ซึ่งสามารถนำโครงการไประดมเงินทุนผ่านกองทุนอินฟราฯฟันด์ ออกพันธบัตร หรือขอกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนได้
"รวมเบ็ดเสร็จ กทม.ต้องหาเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อมาดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายทั้ง 2 ช่วงนี้ หลังรับโอนโครงการจาก รฟม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มอบให้บอร์ดเคทีไปดูวิธีการที่จะหาเงินมาดำเนินการ"
เผยงบฯ กทม.มีไม่พอ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จะหารือ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ถึงการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 6 หมื่นล้านบาท โดย กทม.มี 3-4 ช่องทางเตรียมไว้แล้ว เช่น กทม.รับหนี้มาแล้วผ่อนชำระ หลังทรัพย์สินโครงการบีทีเอสสายปัจจุบันตกเป็นของ กทม.แล้ว หรือให้ รฟม.ชำระหนี้ให้ไปก่อน เป็นต้น
"ตอนนี้ กทม.ไม่มีเงินประมาณที่จะไปใช้หนี้ เนื่องจากงบประมาณของ กทม.ปี"60 จำนวน 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับโครงการด้านอื่นที่มีอยู่แล้ว ก็ยอมรับว่าหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นหนี้ก้อนโตและเป็นภาระระยะยาวของ กทม. ยังไม่รวมกับค่าจ้างบีทีเอสเดินรถเป็นรายปีอีก แต่จะไม่ผลักภาระให้กับประชาชนอยู่แล้ว"
บีทีเอสกินรวบ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บีทีเอสตกลงจ้างเดินรถให้ กทม.เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 1.6 แสนล้านบาท ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต โดยสัญญาจะหมดพร้อมกับสัญญาจ้างเดินรถปัจจุบันในปี 2585 ทาง กทม.จะจ่ายเงินค่าจ้างให้บีทีเอส ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะต้องเซ็นสัญญาก่อนเปิดเดินรถ 1 สถานีจากแบริ่ง-สำโรง วันที่ 3 เม.ย.นี้
"ก่อนหน้านี้ เคทีจ้างบีทีเอสเดินรถ 30 ปี วงเงิน 187,800 ล้านบาท ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า รวมถึงเส้นทางเดิมที่เราได้สัมปทาน 23 กม. จากหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬา-ตากสิน ที่เคทีจ้างเดินรถจนถึงปี"85 พร้อมกันทั้งโครงข่าย เมื่อรวมกับสัญญาใหม่ เบ็ดเสร็จบีทีเอสได้ค่าจ้างทั้งสิ้นกว่า 3.5 แสนล้านบาท แต่เป็นเงินในระยะยาวที่เราจะได้ ไม่ใช่ทั้งก้อน เพราะ กทม.จ่ายค่าจ้างให้ปีละ 1 พันกว่าล้านบาท"
เปิดสำโรงคนเพิ่มขึ้น
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การเตรียมพร้อมการเปิดบริการเพิ่ม 1 สถานีนี้ จะเพิ่มขบวนรถ 1 ขบวน เนื่องจากจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 หมื่นเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันคนใช้บริการบีทีเอสสายใต้นี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนเที่ยวคน/วัน
ขณะเดียวกัน บริษัทได้สั่งซื้อรถใหม่อีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว จะนำ 15 ขบวนมาวิ่งบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ปลายปี 2561 และช่วงหมอชิต-คูคต 21 ขบวน ในปี 2562-2563 ที่เหลือจะเสริมในเส้นทางเดิม เนื่องจากประเมินแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนเที่ยวคน/วัน
รอผู้ถือหุ้นไฟเขียว
ความคืบหน้าการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) นายสุรพงษ์กล่าวว่า วันที่ 3 เม.ย.นี้จะขออนุมัติการลงทุนจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ผลเจรจากับ รฟม.ยุติแล้ว รอเสนอให้บอร์ด PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน เม.ย.นี้ และเซ็นสัญญาได้ในไตรมาสที่ 2
สำหรับเงินลงทุนที่บริษัทเสนอไปของสายสีเหลืองรวมต่อขยายอีก 2.6 กม. เชื่อมกับสายสีเขียวที่สถานีพหลโยธิน อยู่ที่ 46,404 ล้านบาท และสีชมพูรวมส่วนต่อขยายอีก 2.8 กม. สร้างเข้าไปในเมืองทองฯ วงเงินลงทุนอยู่ที่ 47,314 ล้านบาท รวมทั้ง 2 สาย เป็นเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากต้องรวมดอกเบี้ยที่บริษัทต้องกู้เงินมาดำเนินการด้วย
ทั้งนี้ รัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่าก่อสร้าง ซึ่งสายสีชมพูอยู่ที่ 22,500 ล้นบาท และสีเหลือง 25,050 ล้านบาท โดย รฟม.จะชำระให้หลังเปิดบริการปี 2564 เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยบริษัทจะได้รายได้จากค่าโดยสาร การพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานี และค่าจอดรถ ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี ถึงปี 2593
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490170869
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
บทความดีๆ ก็ที่นี่หล่ะนะ
ชอบลิฟวิ่งอินไซเดอร์มากค่ะ มีบทความดีๆให้อ่านแบบนี้ตลอดไปน่ะค่ะ
บทความดี รักษาคุณภาพต่อไปค่ะ ติดตามๆ