News
icon share

สั่งสแกนโฉนดทั่วประเทศละเอียดยิบ 32 ล้านแปลง รับภาษีที่ดิน เร่งทำราคาประเมินใช้คำนวณภาษี

LivingInsider Report 2017-03-27 12:37:02
สั่งสแกนโฉนดทั่วประเทศละเอียดยิบ 32 ล้านแปลง รับภาษีที่ดิน เร่งทำราคาประเมินใช้คำนวณภาษี

 

 

มท.สั่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกกฎหมายลูก 17 ฉบับ รับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ชี้ อปท. 7,800 แห่งได้อานิสงส์ กรมที่ดินสแกนละเอียดยิบเชื่อมโยงข้อมูลที่ดิน 32 ล้านแปลงทั่วประเทศ ด้านธนารักษ์เร่งทำราคาประเมินใช้คำนวณภาษี การันตีเสร็จปลายปีนี้ 
 


นายดุษฎี สุวัฒนวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรองรับการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดิน หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...เมื่อ 21 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 
 


ออกกฎหมายลูก 17 ฉบับรองรับ
 


สถ.ต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่องหลัก คือ 1.ออกระเบียบกฎหมายลูกรองรับ 2.เตรียมความพร้อมเรื่องฐานข้อมูล 3.เตรียมความพร้อมบุคลากร 4.สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับประชาชนในท้องถิ่น ที่สำคัญคือระบบข้อมูล อาจต้องลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมที่ดินและกรมธนารักษ์
 


เบื้องต้น สถ.กับกรมที่ดินจะประชุมร่วมเพื่อเชื่อมโยงระบบแผนที่รูปแปลงที่ดินทั่วประเทศ จากนั้นจะหารือกับกรมธนารักษ์เพื่อนำข้อมูลราคาประเมินที่ดินให้ อปท. ใช้ในการคำนวณจัดเก็บภาษี กำลังเตรียมนัดประชุมหารืออีกครั้งเร็ว ๆ นี้
 


รายได้ อปท.เพิ่ม 6.4 หมื่นล้าน
 


ขณะเดียวกัน สถ.อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างกฎหมายลูก 17 ฉบับ เพื่อบังคับใช้หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯอย่างเป็นทางการ แยกเป็นกฎกระทรวงมหาดไทย 4 ฉบับ ประกาศกระทรวงมหาดไทย 3 ฉบับ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย 10 ฉบับ สาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี วิธีการยื่นภาษี การขอคืนภาษี ฯลฯ เป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถประกาศใช้กฎหมายลูกได้ทันที เมื่อกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้
 


นายดุษฎีกล่าวว่า แม้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะสร้างภาระเพิ่มให้คนในท้องถิ่น แต่รายได้ที่มีเข้ามาสุดท้ายจะกลับคืนไปที่ท้องถิ่น หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประมาณการรายได้จะเพิ่มขึ้นเท่าใดนั้นยังต้องยึดข้อมูลที่กระทรวงการคลังศึกษารวบรวมไว้ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท/ปี สำหรับท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีนี้ ได้แก่ เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา รวมทั้งหมดกว่า 7.8 พันแห่งทั่วประเทศ
 


ปรับโครงสร้าง อปท.
 


แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของบุคลากร สถ.ได้เตรียมการในส่วนของบุคลากรไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยทยอยจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ อปท.ทั่วประเทศ ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน รวมทั้งปรับโครงสร้างเทศบาล ให้กำหนดส่วนราชการระดับกอง คือ กองสารสนเทศภาษีและทรัพย์สิน ขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่งในเทศบาล และจัดตั้งฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินอยู่ภายใต้สังกัดกองคลัง หรือสำนักการคลัง
 


รวบรวมข้อมูลที่ดิน 32 ล้านแปลง
 


นายมานัส ฉั่วสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า กรมที่ดินได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยให้สนับสนุนภารกิจการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันประกาศบังคับใช้ในปี 2562 แนวทางการดำเนินการจะให้การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับแปลงที่ดิน ซึ่งขณะนี้กรมที่ดินได้รวบรวมแผนที่และข้อมูลแปลงที่ดิน 32 ล้านแปลง หรือโฉนด น.ส. 3 น.ส. 3 ก. รวม 32 ล้านฉบับ ไว้ในระบบข้อมูลกลางของกรมที่ดินเรียบร้อยแล้ว
 


ข้อมูลแปลงที่ดินจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดิน อาทิ ทำเลที่ตั้ง ขนาด การใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่ละแปลง เช่น ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ทำการเกษตร พาณิชยกรรม หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า หากท้องถิ่นต้องการนำไปใช้พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ทำให้ท้องถิ่นสามารถคำนวณและจัดเก็บภาษีได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และจัดเก็บภาษีได้ตรงสภาพความเป็นจริง เพราะจะรู้ว่าที่ดินแต่ละแปลงใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกพืช ทำปศุสัตว์ หรือเป็นที่ดินในเขตเมือง เป็นโรงแรม ออฟฟิศ ห้าง โรงงาน เป็นต้น
 


จ้างสามารถคอมเทควางระบบ
 


นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ทางกรมธนารักษ์จะต้องทำฐานข้อมูลราคาประเมินไว้รองรับ โดยต้องจัดทำระบบฐานข้อมูล และต้องลงทุนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้ว พร้อมกับจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกับกรมธนารักษ์
 


ทั้งนี้ ตามแผนกรมธนารักษ์จะต้องประเมินราคาที่ดินรายแปลงจำนวน 32 ล้านแปลง ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2560 นี้ 
 


ปัจจุบันทำไปได้แล้ว 17 ล้านแปลง และเหลืออีก 15 ล้านแปลง ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในปีนี้ ซึ่งมั่นใจว่าเสร็จทันแน่นอน
 


สิ้นปีนี้ราคาประเมินเสร็จสมบูรณ์
 


"ตอนนี้เราประมูลระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลแล้ว คนก็เตรียมพร้อมแล้ว เหลือประเมินรายแปลงอีก 15 ล้านแปลง ซึ่งจะเสร็จภายในสิ้นปี 2560 นี้ ถือว่าเป็นการทำข้อมูลเตรียมพร้อมไว้รอกฎหมายบังคับใช้" 
 


อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวด้วยว่า การประเมินที่ดินรายแปลงจะทำให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากขึ้น ในการที่ท้องถิ่นจะนำไปใช้เพื่อเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป
 


ขณะที่รายงานจากกรมธนารักษ์แจ้งว่า บริษัท สามารถคอมเทค เป็นผู้ชนะประกวดราคาจ้างจัดทำฐานข้อมูลแผนที่และคำนวณราคาประเมินที่ดินรายแปลง 32 ล้านแปลง โดยเคาะวงเงินที่ 248 ล้านบาท
 


นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กฤษฎีกาตรวจร่างเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะต้องไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าตัวกฎหมายจะประกาศได้ในปีนี้ เพียงแต่จะเริ่มมีผลในการจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490504580

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider