Favorite
อสังหาฯไตรมาส 1/60 "คอนโดฯ-ทาวน์เฮาส์" กอดคอกันโต 16-31% "บ้านเดี่ยว" แป้กมูลค่าติดลบ -8% เผยปัญหาใหม่ของดีเวลอปเปอร์ปีนี้แลนด์แบงก์ในมือขาดช่วงเพราะราคาปรับสูงขึ้นทุกวัน ชี้มี 5 ปัจจัยเขย่าการเปลี่ยนแปลง จับตาสินค้าราคาแพงยูนิตเกิน 10 ล้านมาแรงสุดในรอบ 8 ปี (2552-2559)
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท พรีเมี่ยม ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างธุรกิจ เทรนด์มาแรงคือลูกค้าตลาดพรีเมี่ยมหรือตลาดบน โดยมูลค่าตลาดของเซ็กเมนต์นี้มีการเติบโตทั้งรายได้และส่วนแบ่งการตลาด
8-11 บิ๊กแบรนด์กวาดเรียบ
ทั้งนี้ สถิติตลาดอสังหาฯไตรมาส 1/60 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มียอดขายรวมกัน 98,013 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตในแง่มูลค่า 14% เทียบกับไตรมาส 1/59 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 85,835 ล้านบาท มียูนิตขายรวม 26,365 ยูนิต เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยพบว่าเป็นยอดขายของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือบิ๊กแบรนด์ 11 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 56%
แบ่งเป็นยอดขายตลาดคอนโดมิเนียม 50,936 ล้านบาท เติบโตในแง่มูลค่า 31% ในขณะที่มียูนิตขายรวมกัน 14,072 ยูนิต เติบโต 15% และเป็นยอดขายของบิ๊กแบรนด์เพียง 8 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 58%
ตลาดทาวน์เฮาส์มียอดขายรวม 20,110 ล้านบาท เติบโต 16% เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลางหันมาลงทุนเปิดตัวจำนวนมากขึ้น โดยอยู่ในมือ 8 บริษัท มาร์เก็ตแชร์รวมกัน 56%
ในขณะที่ตลาดบ้านเดี่ยวมียอดขายรวม 18,844 ล้านบาท ติดลบ -18% อยู่ในมือบิ๊กแบรนด์ 9 บริษัท มาร์เก็ตแชร์รวมกัน 60%
"จะเห็นว่าตลาดอยู่ในมือรายใหญ่ 8-11 บริษัทเท่านั้น มีข้อสังเกตว่า คอนโดฯในกรุงเทพฯมีแรงกดดันจากต้นทุนราคาที่ดินแพงมาก ทำให้การลงทุนถูกผูกขาดอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ที่สามารถลงทุนในโครงการที่ดินแพง ๆ ได้"
ตลาดบนขายดีกระจุกตัว
นายประเสริฐกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นกลุ่มตลาดราคาแพง โดยมูลค่าตลาดรวมไตรมาส 1/60 จำนวน 98,013 ล้านบาท เป็นส่วนแบ่งตลาดกลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาทถึง 38%
โฟกัสคอนโดฯที่มีมูลค่าตลาดรวม 50,936 ล้านบาท พบว่ากลุ่มราคาที่ทำให้ตลาดโตเป็นของราคาเกิน 10 ล้านบาทถึง 71% มูลค่ารวม 14,934 ล้านบาท หรือมูลค่า 1 ใน 3 ของตลาดรวมในเขตกรุงเทพฯ แต่นับจำนวนยูนิตมีเพียง 581 ยูนิตเท่านั้น ที่สำคัญยังพบด้วยว่าเป็นยอดขายของผู้ประกอบการเพียง 4 บริษัท ได้แก่ โครงการ 98 ไวร์เลส ของค่ายแสนสิริ, รีเสิร์ฟ ทองหล่อ ค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท, 28 ชิดลม ค่ายเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, เดอะแบงค็อก ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบางยูนิตของโครงการศุภาลัย โอเรียนทอล สุขุมวิท 39
"ทิศทางที่เห็นไตรมาสแรกตลาดดีกระจุกตัว ไม่ได้โตแบบกระจาย ผู้ประกอบการบางคนบ่นอุบ ยอดขายแย่มากเลยเพราะไม่ใช่ส่วนที่โต การโตได้รับการกระจุกตัว คนที่ไม่ได้รับยอดขายก็เลยบ่นเพราะไม่ได้มองเห็นภาพตลาดรวม สรุปก็คือตลาดดีกระจุกแย่กระจาย"
มึนตึ้บแลนด์แบงก์ขาดช่วง
ส่วนทาวน์เฮาส์ให้โฟกัส 3-4 บริษัท อาทิ พฤกษาฯ มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 20% บริษัทที่มาแรงคือค่ายโกลเด้นแลนด์ และมีคู่แข่งสำคัญจากค่ายเอพี (ไทยแลนด์) และควอลิตี้เฮ้าส์ ลงทุนต่อเนื่องทำให้ตลาดรวมโต 16% ดังกล่าว
มูลค่าขายเทียบรายไตรมาสพบว่า ไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 20,110 ล้านบาท เกือบทำนิวไฮจากไตรมาส 1/58 ที่มีมูลค่า 23,024 ล้านบาท ไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 17,104 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันโตได้ 16% และถ้าเทียบกับไตรมาส 4/59 โตถึง 22% เช่น ค่ายโกลเด้นแลนด์ เปิดตัวทำเลลาดกระบัง อ่อนนุช นนทบุรี ทำยอดขายบริษัทเดียว 2,000 กว่าล้านบาท
จุดเปลี่ยนแปลงต้องจับตาบ้านเดี่ยวที่มีการเติบโตติดลบ -18% สาเหตุเพราะปี 2559 ตลาดรวมมีการเติบโตนิวไฮ 85,236 ล้านบาท ซัพพลายหลักมาจากการเปิดตัวโครงการของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในขณะที่ไตรมาส 1/60 ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ จึงเห็นการขาดช่วงเล็กน้อยของยอดขาย
"ปัญหาของผู้ประกอบการทุกคนในปีนี้ ยอดขายดีไม่ว่าบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ คีย์ซักเซสมาจากแลนด์แบงก์เก่าราคาเดิม ผู้ประกอบการต้องการสร้างยอดขายเพื่อผลักดันการเติบโต จึงเอาแลนด์แบงก์เดิมมาลงทุน วันนี้ถ้าซื้อที่ดินในทำเลเดิมจะขายราคาปัจจุบันไม่ได้แล้ว เริ่มเห็นการขาดช่วงของแลนด์แบงก์ที่นำมาพัฒนาโครงการ"
ลูกค้าซื้อลงทุนโผล่แจม
สำหรับทิศทางตลาดอสังหาฯนายประเสริฐกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของปี2559 เป็นต้นมามีการปรับองค์กรและปรับโครงสร้างธุรกิจ ภาพปีนี้มีปัจจัยต้องคำนึงมากขึ้น 5 ปัจจัยด้วยกัน เริ่มจาก 1.โครงสร้างธุรกิจอสังหาฯ เปลี่ยนแปลงจากเดิมรายใหญ่กินมาร์เก็ตแชร์รายกลาง-เล็ก ไปสู่การมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาแข่งขันกับบิ๊กแบรนด์ในวงการ
2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ประกอบการจากเดิมเป็นบริษัทในวงการมีขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ไปสู่การจอยต์เวนเจอร์ในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น3.โครงสร้างในฝั่งผู้ซื้อก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมมีเรียลดีมานด์ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริง, ซื้อลงทุนปล่อยเช่า และซื้อลงทุนเก็งกำไร ไปสู่การซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อลงทุน (Investment Demand) มากขึ้น เป้าหมายซื้ออสังหาฯ ลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ
4.จุดขายและรูปแบบโครงการที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลง เดิมเน้นทำเล+ราคา+โปรดักต์ ไปสู่การนำเสนอจุดขายที่ซับซ้อนมากขึ้นในรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส เนื่องจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้าสู่วงการพัฒนาที่ดินมีความพร้อม เช่น โรงแรม ค้าปลีก สำนักงานให้เช่า
และ 5.เงื่อนไขในด้านที่ดิน เดิมเป็นแบบโอนกรรมสิทธิ์หรือฟรีโฮลด์ (Freehold) แต่เนื่องจากราคาแพงขึ้นและที่ดินหายาก ทำให้ที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการหันไปใช้ทางเลือกในการเช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์ (Leasehold) เนื่องจากเจ้าของที่ดินหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ทำเลในเมือง ซึ่งเป็นทำเลศักยภาพสูงในการพัฒนาโครงการ
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1494217589
เอสบี ดีไซน์สแควร์ ชวนช็อปลดหย่อนภาษี “Easy E-Receipt 2.0” พร้อมจัดแคมเปญดับเบิ้ลคุ้ม 3 ต่อ กระตุ้นการจับจ่ายต้นปี 68
9 hours
อนันดาฯ ส่งแคมเปญ “I Say YES! อนันดา..ใช่เลย” ขนคอนโด บ้านและทาวน์โฮมพร้อมอยู่ ใกล้รถไฟฟ้า มอบส่วนลดสูงสุด 4 ลบ.* แจกทองสูงสุด 10 บาท*
9 hours
แอทโมซ ซีซั่น ลาดกระบัง คอนโดสร้างเสร็จใหม่พร้อมอยู่ เริ่ม 1.49 ลบ.* เปิดชมตึกจริงครั้งแรก 18-19 ม.ค.นี้
12 hours
“สุดารา” คอนโดหรูสไตล์รีสอร์ตใจกลางบางเทา บุกกรุงเทพฯ เตรียมจัดงานพิเศษ กางอินไซด์ตลาดอสังหาฯ ภูเก็ตปี 68
yesterday
D’Well จับมือ MOTIF ร่วมเปิดประสบการณ์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ส่งมอบเฟอร์นิเจอร์หรู “Fendi Casa” กับโครงการ “ARNA RAMA9”
yesterday
โอเคเลยค่ะ รายละเอียดดีมาก
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ
สระน้ำกว้างมากเลย น่าเล่นน่าอยู่
เขียนดีขนาดนี้ เอาใจพี่ไปเลย
อ่านง่าย เข้าใจง่าย ไว้จะเข้ามาอ่านบ่อยๆค่ะ