News
icon share

อสังหา วูบติดหล่ม! เศรษฐกิจกำไรทรุด-มือสมัครเล่นแย่งตลาด

LivingInsider Report 2017-05-19 13:32:22
อสังหา วูบติดหล่ม! เศรษฐกิจกำไรทรุด-มือสมัครเล่นแย่งตลาด

 

 

ไตรมาส 1/60 ธุรกิจอสังหาฯหืดจับ ยอดโอน-กำไรวูบ 7-88% หวังฟื้นตัวไตรมาส 2-3 ปูพรมแคมเปญกระตุ้น "เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" ชี้สารพัดปัจจัยลบทั้งโลว์ซีซั่น-กู้ไม่ผ่าน-ไร้มาตรการรัฐ ปลอบใจยังมีข่าวดียอดขายรอโอนทั้งระบบ 6 หมื่นล้าน ตัวช่วยดันกำไรตอนสิ้นปี "พลัส พร็อพเพอร์ตี้" ชี้เทรนด์ Young Developer แห่ลงทุนเบียดเค้กบิ๊กแบรนด์เพียบ

 

 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจผลประกอบการประจำไตรมาส 1/60 ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พบว่า เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของผู้ประกอบการก็ว่าได้ จากปัจจัยกดดันทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อในอัตราสูงถึง 40-45% ในกลุ่มกำลังซื้อระดับกลาง-ล่างซึ่งเป็นฐานตลาดใหญ่ที่สุด รวมทั้งไม่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯจากภาครัฐมาเป็นตัวช่วย ส่งผลให้ตัวเลขรายได้และกำไรสุทธิลดลง 7-88% เทียบกับช่วง Q4/59
 


ตลาดกลาง-ล่างหนักสุด
 


นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/60 มียอดขาย 13,303 ล้านบาท เติบโต 35.6% เทียบกับไตรมาส 1/59 ที่มียอดขาย 9,809 ล้านบาท โครงการขายดีประจำไตรมาสมาจาก 2 คอนโดมิเนียม คือ เดอะทรี สุขุมวิท 71 กับเดอะรีเสิร์ฟ ทองหล่อ
 


ทั้งนี้ ยอดรับรู้รายได้อยู่ที่ 8,072 ล้านบาท ลดลง -21.5% เทียบกับไตรมาส 1/59 ที่รับรู้รายได้ 10,283 ล้านบาท รวมทั้งกำไรสุทธิทำได้ 681 ล้านบาท ลดลง -45.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ทำได้ 1,240 ล้านบาท โดยบริษัทยังมั่นใจว่าแผนธุรกิจที่ตั้งเป้ามียอดรับรู้รายได้ปีนี้ 50,200 ล้านบาท
 


"รายได้และกำไรสุทธิปรับตัวลดลงในไตรมาส 1/60 ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นรวมทั้งเดือนเมษายนมีวันหยุดยาว โฟกัสยอดขายยังมีการเติบโตได้ดีมาก แสดงถึงตลาดอสังหาฯยังมีความต้องการซื้อที่ดี แผนธุรกิจพฤกษาฯมีโครงการรอโอนรายไตรมาสหมดแล้ว รวมทั้งมีแบ็กล็อกสร้างพร้อมโอนปีนี้ 24,000 ล้าน ดังนั้นช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาส เท่ากับบริษัทต้องโอนเฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท จึงมั่นใจว่าทำได้ตามเป้า" นายทองมากล่าว
 


นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN กล่าวว่า รายได้รวมไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 2,472.66 ล้านบาท ลดลง -44.12% จากไตรมาส 1/59 ที่มีรายได้ 4,424 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 389.03 ล้านบาท จาก 704.21 ล้าน มาอยู่ที่ 315.18 ล้านบาท หรือลดลง -55.24% ประเมินว่ามาจากปัญหารีเจ็กต์เรต หรือยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง เนื่องจากฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มกำลังซื้อราคา 1 ล้านบาทบวกลบ
 


ยิ้มสู้เน้นยอดขาย-เปิดตัวใหม่
 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลประกอบการ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH ไตรมาส 1/60 มีรายได้ 6,369.35 ล้านบาท ลดลง -9.21% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้ 7,015.76 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,773.55 ล้านบาท ลดลง -11.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีตัวเลข 1,995 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากบ้านเดี่ยว 65% ทาวน์เฮาส์ 8% และคอนโดมิเนียม 27%
 


บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มีรายได้ 1,928.1 ล้านบาท ลดลง -40.9% มีกำไรสุทธิ 44.7 ล้านบาท ลดลง -87.8% เนื่องจากบริษัทไม่มีรายได้จากการขายที่ดินเปล่าเข้ามา ขณะที่ไตรมาส 1/59 มีรายได้จากการขายที่ดิน 46.8 ล้านบาท, รายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงแรมในประเทศก็ลดลง 11.9 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการเงินเพิ่มขึ้น 29.7 ล้านบาท หรือเพิ่ม 14.5%
 


บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ มีรายได้ไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 2,314 ล้านบาท ลดลง -10.82% เทียบกับไตรมาส 1/59 ที่มีรายได้ 2,595 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 6% โดยลดลง -5.40% เทียบกับไตรมาส 1/59 ที่มีกำไร 148 ล้านบาท
 


ล่าสุด อนันดาฯปรับเพิ่มเป้าเปิดตัวโครงการใหม่ไตรมาส 2/60 สูงถึง 267% จากเดิม 6,025 ล้านบาท เป็น 22,676 ล้านบาท ประกอบด้วย คอนโดฯ 5 โครงการ มูลค่า 21,163 ล้านบาท และแนวราบ 2 โครงการ มูลค่า 1,513 ล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มเป้ายอดขาย (Presales) ไตรมาส 2/60 อีก 25% นอกจากนี้ปรับเพิ่มเป้าเปิดตัวโครงการใหม่ และเป้ายอดขายทั้งปีอีก 2% เนื่องจากมั่นใจว่าตลาดมีดีมานด์อีกจำนวนมาก
 


โลว์ซีซั่นทุบกำไรรูด -44%
 


บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ มีรายได้ไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 3,316.08 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/59 เท่ากับเพิ่มขึ้น 3,307.09 ล้านบาท เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้คอนโดฯ โนเบิล เพลินจิต ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 894.93 ล้านบาท เพิ่ม 1,000% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ขาดทุน 137.90 ล้านบาท
 


บมจ.ปริญสิริ มีรายได้รวม 591.90 ล้านบาท ลดลง -7.30% จากไตรมาส 1/59 ซึ่งมีรายได้รวม 638.51 ล้านบาท มาจากทาวน์เฮาส์ 264.63 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 202.15 ล้านบาท คอนโดฯ 85.54 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 43.45 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.02% จากไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 43.46 ล้านบาท
 


นางสาวเติมพร ตันติวิวัฒน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลประกอบการกลุ่มบริษัทอสังหาฯ งวดไตรมาส 1/2560 ไม่สดใส มีบทวิเคราะห์ 10 บริษัทใหญ่ ได้แก่ ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, อนันดาฯ, LPN, ควอลิตี้เฮ้าส์, ศุภาลัย, เอพี (ไทยแลนด์), พฤกษา โฮลดิ้ง, แสนสิริ, โกลเด้นแลนด์ และเพซ ดีเวลลอปเม้นท์ พบว่ามีกำไรสุทธิรวมเพียง 5,700 ล้านบาท ลดลง -44% จากไตรมาส 4/59 ที่ทำได้ 10,029 ล้านบาท และลดลง -25% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 7,466 ล้านบาท
 


สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปกติแล้วช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นช่วงโลว์ซีซั่นอยู่แล้ว ยอดขายและยอดโอนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงปลายปี โดยไตรมาส 4/59 หลายบริษัทมีกำไรค่อนข้างดีจากส่วนแบ่งในธุรกิจร่วมลงทุน มียอดโอนคอนโดฯจำนวนมาก ที่สำคัญ ไตรมาส 1/59 มีมาตรการรัฐกระตุ้นภาคอสังหาฯ เป็นตัวช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มและประหยัดค่าใช้จ่ายภาษี
 


"ตัวช่วย" แบ็กล็อก 6 หมื่นล้าน
 


แนวโน้มไตรมาส 2-3/60 คาดว่ามีความเคลื่อนไหวลงทุนและกระตุ้นการขายมากขึ้น โดยเฉพาะมีการแข่งขันเปิดตัวโครงการใหม่เนื่องจากภาวะตลาดไม่ดีในช่วงต้นปี ประกอบกับช่วงปลายปีมีงานพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย โจทย์ธุรกิจจึงต้องมาโฟกัสช่วงกลางปีมากขึ้น
 


นางสาวเติมพรกล่าวว่า ประเมินยอดพรีเซลโครงการสามารถเติบโต 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 235,000 ล้านบาท ด้านรายได้น่าจะเติบโต 12% อยู่ที่ 2.49 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิโต 13% หรือ 35,000 ล้านบาท ประเมินจากยอดขายรอโอน หรือ Backlog ในภาพรวม 60,000 ล้านบาท
 


"สิ่งที่ต้องจับตากลุ่มอสังหาฯตอนนี้ คือ Backlog ที่ค่อย ๆ ปรับตัวลดลง แม้ปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 กว่าล้าน เป็นตัวช่วยหลักที่หนุนให้กำไรสุทธิปีนี้โต 13%ได้ แต่ปีหน้ามองว่า Backlog ลดลงเหลือ 30,000 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบต่อผลประกอบการได้ หากผู้ประกอบการยังไม่เร่งเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ มาเติมพอร์ต" นางสาวเติมพรกล่าว
 


"ยังดีเวลอปเปอร์" เบียดเค้ก
 


นางสาวสมสกุล หลิมศุทธพรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในเครือแสนสิริ เปิดเผยว่า ประมวลภาพธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารงานขายโครงการ 5 ปีย้อนหลัง มองเห็นเทรนด์การเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ หรือ Young Developer เพิ่มมากขึ้น โดยรับงานที่ปรึกษาให้แล้ว 12 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท
 


พลัสฯมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ จึงเพิ่มน้ำหนักเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแผนธุรกิจ 3 ปี (2560-2562) ตั้งเป้าปีนี้รับงานที่ปรึกษาและพัฒนาโครงการ 7 โครงการ และเพิ่มเป็น 20 โครงการในปี 2562 เฉลี่ยมูลค่าโครงการละ 500-1,000 ล้านบาท
 


"จะบอกว่าเป็นเทรนด์ของคนมีกะตังค์ก็ได้ มีทั้งพ่อแม่อยู่ในวงการอสังหาฯอยู่แล้ว และมาจากนอกวงการเลย เช่น ทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเล ลูกหลานหรือทายาทธุรกิจวัย 20 ปีปลาย ๆ จนถึง 30-40 ปี เริ่มมองหาธุรกิจที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ การลงทุนอสังหาฯเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น พัฒนาโครงการเดียวมีกำไร 20 ล้านภายใน 2 ปี แต่ต้องมีทุนประเดิมสำคัญคือที่ดินกับเงินทุนสำหรับเป็นค่าก่อสร้างโครงการอย่างน้อย 30% ของราคาก่อสร้าง" นางสาวสมสกุลกล่าว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1494999201

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider