News
icon share

เร่งที่จอดรถใต้ดิน ราชดำเนิน

LivingInsider Report 2017-06-01 11:15:48
เร่งที่จอดรถใต้ดิน ราชดำเนิน

 

 

กทม. รับลูก "บิ๊กตู่" ขุดถนนราชดำเนินกลางลึก 20 เมตร ผุดอาคารจอดรถ 3-4 ชั้น 2 อาคาร รัศมี "ศรีอยุธยา-แยกนครสวรรค์" รับรถไฟฟ้า 2 สาย แก้รถติดพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ดึงเอกชนลงทุน 3 พันล้าน รับสัมปทานเก็บค่าจอด 30 ปี รถยนต์ 15 บาท/ชม.รถบัส 100 บาท/ชม. คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

 

นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยสร้างที่จอดรถใต้ดิน ล่าสุดทางกระทรวงมอบหมายให้ กทม.ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดของโครงการ เช่น รูปแบบ PPP เนื่องจากเป็นโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องให้เอกชนมาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 คาดว่าจะใช้เวลา 10 เดือน

ทั้งนี้ กทม.ได้รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเบื้องต้นให้ผู้บริหาร กทม.รับทราบแล้วเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือน มิ.ย-ก.ค.นี้ ซึ่งมีข้อสรุปพื้นที่มีความเหมาะสมจะดำเนินการก่อสร้างจะอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง

เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้า2สายคือ สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหารถติดในบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากจะมีรถบัสนักท่องเที่ยวเข้ามาในบริเวณนี้จำนวนมาก หากมีที่จอดรถบัสให้จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ชั้นในได้


"กำหนดบริเวณพื้นที่จะสร้าง2แห่งจุดแรกเป็นอาคารจอดรถยนต์อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา-ถนนกรุงเกษม ส่วนจุดที่ 2 เป็นอาคารจอดรถบัส อยู่บริเวณถนนกรุงเกษม-แยกนครสวรรค์"

นายศรชัยกล่าวอีกว่า สำหรัรูปแบบโครงการจะสร้างอยู่ใต้ถนราชดำเนินกลาง ลึกจากชั้นพื้นดินประมาณ 20 เมตร โดยอาคารจอดรถจะออกแบบเป็นอาคารขนาด 3-4 ชั้น มี 2 อาคาร แยกเป็นอาคารจอดรถบัส 1 อาคาร ขนาด 3 ชั้น มีพื้นที่ 41,000 ตารางเมตร รองรับได้ 150 คัน ค่าก่อสร้าง 1,450 ล้านบาท ส่วนอาคารจอดรถยนต์ มีขนาด 4 ชั้น พื้นที่ 54,000 ตารางเมตร สามารถจอดได้ 1,600 คัน ค่าก่อสร้าง 1,500 ล้านบาท

"โครงการนี้ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง จึงต้องให้เอกชนมาลงทุน โดยได้รายได้จากค่าจอดรถเป็นผลตอบแทน ตลอดระยะสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นจะคิดค่าบริการสำหรับรถยนต์ 15 บาท/ชม.และรถบัสอยู่ที่ 100 บาท/ชม. ส่วน กทม.จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าจอดรถหรือไม่ รอให้ที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดให้เสร็จก่อน"

สำหรับขั้นตอนหลังจากบริษัทที่ปรึกษาสรุปรูปแบบการลงทุนPPPของโครงการได้แล้วกทม.จะเสนอให้คณะผู้บริหารพิจารณาก่อนเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) PPP อนุมัติต่อไป คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนต่าง ๆ ในปี 2561 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1496226424

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider