News
icon share

เคลียร์ปมไฮสปีดจีนก่อน ประยุทธ์ เยือนปักกิ่ง

LivingInsider Report 2017-06-15 16:15:50
เคลียร์ปมไฮสปีดจีนก่อน ประยุทธ์ เยือนปักกิ่ง

 

 

คสช.ใช้ ม.44 เคลียร์ทางรถไฟไทย-จีน ปลดล็อกกฎหมายทั้งขบวน ปูทาง "บิ๊กตู่" เยือนจีน ก.ย.นี้ เตรียมตอกเข็ม "กรุงเทพฯ-โคราช" มูลค่า 1.79 แสนล้าน ปักธงสัญลักษณ์สถานีกลางดง-ปางอโศก "วิษณุ" ชงวิศวกรจีนปฐมนิเทศแทนการสอบ ใช้ "ราคามาตรฐาน" แทนราคากลาง ไม่ต้องผ่านซูเปอร์บอร์ด ญี่ปุ่นตีปีก อีอีซีตัวเร่งแจ้งเกิดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟไทย-จีนกรุงเทพฯ-หนองคาย โครงการความร่วมมือรัฐบาลไทยและจีน ได้รับการผลักดันจาก "รัฐบาล คสช." ร่วม 2 ปี นับจากเซ็น MOC วันที่ 19 ธ.ค. 2557 และเซ็นกรอบความร่วมมือ (FOC) ร่วมกัน 2 ฉบับ และผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วม 18 ครั้ง

โดย 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันแบ่งออกเป็น 2 เฟส จะเริ่มเฟสแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253.5 กม.เป็นลำดับแรก ซึ่งไทยได้เจรจาลดค่าก่อสร้างจาก 2.2 แสนล้านบาท เหลือ 179,412 ล้านบาท ประหยัดไปได้กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 18.4% โดยแบ่งก่อสร้าง 4 ช่วง 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3.แก่งคอย-นครราชสีมา 110 กม. และ 4.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 129 กม.

ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ปลดล็อกข้อกฎหมายเป็นอุปสรรคให้โครงการเดินหน้าต่อ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อจนนำไปสู่การเปิดประมูลก่อสร้างทันกำหนด ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมระดับผู้นำในกลุ่มบริกส์ ที่ประกอบด้วย บราซิล อินเดีย รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในเดือน ก.ย. 60

ม.44 ปลดล็อกไทย-จีนทั้งขบวน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รอการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้อำนาจตาม ม.44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟไทย-จีน ภายหลังการหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้งเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบราคากลาง การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกร

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ฝ่ายจีนขอให้ไทยใช้คำสั่ง ม.44 ยกเว้นมาตรา 49 ตาม พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 ไม่ต้องให้นิติบุคคลมีสำนักงานใหญ่ที่ไทย และทำให้การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปนิกอย่างถูกกฎหมายของจีนถูกต้องตามกฎหมายไทย และขอยกเว้นไม่ทำตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อเปิดประมูลต้องมีการแข่งขัน เพราะเป็นความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ก็ต้องจ้างหรือใช้ระบบของจีน โดยต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จ 120 วัน หากมีคำสั่ง ม.44

"ถึงมี ม.44 ปลดล็อกข้อกฎหมาย ไม่ได้ทำให้โครงการเดินหน้าฉลุย ยังต้องผ่านขั้นตอนอื่นอีก เช่น ขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ซึ่งช่วงหลัง ๆ ทั้งไทย-จีนไม่ได้ระบุไทม์ไลน์จะเริ่มสร้างเมื่อไหร่ เหมือนก่อนหน้านี้ เพราะยังไม่สามารถเริ่มต้นได้"

"วิษณุ" ตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุในที่ประชุม ครม.ว่า อยากให้ทุกฝ่ายรับรู้เหตุผล ถ้าเรื่องใดที่มีปัญหาขัดข้องไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยกฎหมายปกติ ให้ยอมรับว่าไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้จริง ๆ เพราะติดปัญหากฎหมาย จึงต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44 เช่น รถไฟไทย-จีน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รายงานที่ประชุม ครม.ว่า ขณะนี้กำลังยกร่างข้อกฎหมายที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พิจารณาว่าสามารถตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจได้หรือไม่ ก่อนจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ ม.44

จับวิศวกรจีนปฐมนิเทศ

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า มี 5 ปัญหาจำเป็นที่ต้องใช้ ม.44 ประกอบด้วย 1.เรื่องการก่อสร้าง สถาปนิก วิศวกรของจีนที่เข้ามาดำเนินการไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดกฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบใบอนุญาตจากประเทศไทย แม้การสอบไม่ได้ยุ่งยาก แต่จีนมีความรู้สึกว่าประเทศเขามีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 หมื่นกิโลเมตร แต่ของไทยไม่มีสักเมตร แต่ไทยกำลังสอบวิศวกรของเขา จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ให้มีบรรทัดฐานยอมรับได้ โดยให้สถาปนิกและวิศวกรยอมรับการอบรมปฐมนิเทศ ในเรื่องเส้นทาง ทรัพยากร ภูมิประเทศของประเทศไทย

ใช้ราคามาตรฐานแทนราคากลาง

2.พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่มีระเบียบให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาโครงการที่มีวงเงินเกิน 5 พันล้านบาทขึ้นไป จะต้องใช้ ม.44 ยกเว้น เพื่อเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามโรดแมป 3.ราคากลาง ในโครงการดังกล่าวไม่สามารถมีราคากลางได้ จึงคิดวิธีเจรจาโดยเสนอ ครม.เพื่อกำหนดเป็น "ราคามาตรฐาน" ที่ใช้อ้างอิงได้ 4.จีทูจี การจัดซื้อจัดจ้างระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในส่วนของรัฐบาลไทยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ แต่จีนใช้วิธีให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนชี้ว่า บริษัทเอกชนรายใดมาเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทย ครม.จึงขอให้กระทรวงคมนาคมประสานงานให้รัฐบาลจีนออกหนังสือยืนยันว่ากำหนดตัวบริษัทเอกชนรายใดมาเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทย

ฉลุยผ่านที่ดินส.ป.ก.

และ 5.เส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-โคราช จะต้องผ่านเส้นทางพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มากพอสมควร การไปใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรนั้นทำไม่ได้ อีกทั้งมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ห้ามใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ทำอย่างอื่นนอกจากการเกษตร ดังนั้นอาจใช้มาตรา 44 มาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งการออกมาตรา 44 แก้ไขปัญหาดังกล่าวจะครอบคลุมการก่อสร้างรถไฟสายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุมร่วมระหว่าง ครม.และ คสช.ในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป

มิ.ย.เสนอ ครม.อนุมัติโครงการ

ตามแผนจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเป็น Milestone ดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้า ทั้งออกแบบรายละเอียดจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และเปิดประมูลก่อสร้าง

"ครม.อนุมัติแล้ว จะประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 19 และส่งร่างสัญญาจ้างจีนออกแบบ คุมงานก่อสร้างให้อัยการสูงสุดตรวจ คาดว่าภายใน ก.ค.จะเซ็นสัญญา จากนั้นจีนออกแบบรายละเอียด และส่งแบบเฟสแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศกให้ก่อน เพื่อเริ่มโครงการในปีนี้ตามที่ 2 รัฐบาลตั้งเป้า เป็นการถมคันดินเพื่อแสดงสัญลักษณ์เริ่มต้นโครงการ วงเงิน 200 ล้านบาท"

ซึ่งโครงการจะเริ่มสร้างต่อเมื่ออีไอเอได้รับอนุมัติ ขณะนี้ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี เป็นช่วงเดียวกับรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว เหลือช่วงบ้านภาชี-โคราช จะเสนอ คชก.พิจารณาครั้งที่ 6 จะเดินหน้าคู่ขนานไปกับเสนอภาพรวมของโครงการให้ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม.อนุมัติ รวมถึงพิจารณาแหล่งเงินลงทุนซึ่งจีนยังไม่ลดดอกเบี้ยให้ 2% ตามที่ไทยต้องการ 

จีนเสนอใช้เหล็กพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 18 วันที่ 22-24 พ.ค.ที่ผ่านมา เช่น จีนเสนอให้ใช้เหล็กข้ออ้อยชนิดพิเศษ รับทราบฝ่ายจีนแจ้งไม่สามารถให้รถไฟไทย-จีนใช้ทางร่วมรถไฟเชื่อมต่อสนามบินช่วงสถานีบางซื่อ-ดอนเมืองได้ และไทยให้คำมั่นจะเร่งขั้นตอนขออนุมัติโครงการต่อ ครม. รายงานอีไอเอ เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างได้ตามแผนที่เห็นชอบร่วมกัน

"สมคิด"เร่งรถไฟสายอีอีซี

นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังเยี่ยมกระทรวงคมนาคมว่า ให้เร่งประมูลรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง และเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ภายในสิ้นปี 2560 เพื่อรับกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นสนใจจะขยายเส้นทางไปถึงอยุธยาเชื่อมกับอีอีซี ทางคมนาคมต้องหารือร่วมกับญี่ปุนจะลงทุนรูปแบบไหน

"ไฮสปีดไประยองยังเหมือนเดิม แต่ญี่ปุ่นสนใจสร้างไปถึงอยุธยาเชื่อมอีอีซี เพราะมีโรงงานญี่ปุ่นเยอะ ไม่ได้ยกให้เขา ต้องมาประมูลเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง ส่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เขาสนใจอยู่แล้ว แต่สไตล์ญี่ปุ่นต้องศึกษารายละเอียดก่อน เส้นนี้ดี อยากให้เขาทำเร็ว อย่าวัดด้วยผลตอบแทน ผู้โดยสาร ต้องวัดด้วยเศรษฐกิจจะมีการพัฒนาสองข้างทางให้เจริญขึ้น ส่วนรถไฟไทย-จีนจะขอใช้ ม.44 แก้ปัญหาที่ล่าช้าให้ทะลุปรุโปร่ง"

ชินคันเซ็นเชื่อม 3 สนามบิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับอีอีซี มีแนวโน้มรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง และรถไฟส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งคณะกรรมการอีอีซีรวมเป็นโครงการเดียวกัน เป็น "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ" มูลค่ารวม 194,391 ล้านบาท จะเดินหน้าได้ก่อน ซึ่งการรถไฟฯจะศึกษารูปแบบ PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนแล้วเสร็จ ส.ค.นี้ จากนั้นเปิดประมูลและได้ผู้ชนะต้นปี 2561

"ญี่ปุ่นที่สนใจ น่าจะเป็นบริษัทเอกชนระบบรถไฟชินคันเซ็น ซึ่งเปิดกว้างให้ทุกประเทศ ซึ่งเอกชนญี่ปุ่นก็ร่วมกับเอกชนไทยได้ ถ้าประมูลชนะก็ขยายไปถึงอยุธยา โดยใช้แบบรายละเอียดของกรุงเทพฯ-พิษณุโลกจะเสร็จปีนี้ได้" แหล่งข่าวกล่าว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497418190

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider