News
icon share

สามารถ แนะเปลี่ยนผู้รับผิดชอบสร้างไฮสปีด หลังเจรจายืดเยื้อ18ครั้งกว่า3ปี ชี้ใช้ม.44แก้ได้ส่วนเดียว

LivingInsider Report 2017-06-16 15:25:46
สามารถ แนะเปลี่ยนผู้รับผิดชอบสร้างไฮสปีด หลังเจรจายืดเยื้อ18ครั้งกว่า3ปี ชี้ใช้ม.44แก้ได้ส่วนเดียว

 

 

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ว่า ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ ม.44 แก้ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีน โดยมีแผนที่จะก่อสร้างระยะที่ 1 ความยาวแค่เพียง 3.5 กิโลเมตร บริเวณสถานีกลางดง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเริ่มงานได้เลย โดยตนได้ติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีแต่ข่าวเลื่อนการก่อสร้างมาตลอด

นายสามารถระบุอีก การที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้ประกาศใช้อำนาจตาม ม.44 เพื่อแก้ปัญหาทางกฎหมาย จะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างได้บ้าง แต่ตนไม่เชื่อว่าจะทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ประสบความสำเร็จได้ เพราะปัญหาหลักที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้านั้นอยู่ที่ผู้รับผิดชอบมากกว่าปัญหาทางกฎหมาย ดังนั้นตนขอเสนอแนะดังนี้ 1.เปลี่ยนผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับกระทรวงคมนาคมลงมาถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะตนไม่แน่ใจว่าผู้รับผิดชอบโครงการนี้บางคนมีความตั้งใจจริงที่จะผลักดันรถไฟความเร็วสูงให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ เนื่องจากการเจรจากับผู้แทนจีนยืดเยื้อมาถึง 18 ครั้ง เป็นเวลายาวนานเกือบ 3 ปี ที่น่าแปลกประหลาดที่สุดก็คือ การเสนอให้ก่อสร้างระยะที่ 1 แค่เพียง 3.5 กม.เท่านั้น ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกันเช่นนี้ สร้างเสร็จแล้วก็นำไปใช้อะไรไม่ได้ หากจะอ้างว่าเพื่อต้องการทดสอบความสามารถในการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของวิศวกรจีนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะวิศวกรจีนมีประสบการณ์การออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะทางกว่า 20,000 กม.

นายสามารถระบุอีกว่า 2.เปลี่ยนกำหนดการก่อสร้าง ให้ก่อสร้างรวดเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. ซึ่งบริษัทรับเหมาที่มีประสบการณ์สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็ควรขยายเส้นทางไปจนถึงหนองคายทันที โดยให้จีนร่วมลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย การทำเช่นนี้จะทำให้เอกชนที่สนใจจะลงทุนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเกิดความเชื่อมั่น เนื่องจากผู้ลงทุนเห็นว่าโครงการนี้มีโอกาสสำเร็จแน่ 3.พัฒนาเมืองควบคู่กับรถไฟความเร็วสูง ผมไม่อยากให้รัฐบาลมุ่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยากให้พัฒนาเมืองควบคู่ไปด้วย หรือเป็นการพัฒนาทางรถไฟกับเมืองในเชิงบูรณาการ ซึ่งจะช่วยให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาเมืองอาจจะประกอบด้วย การก่อสร้างเมืองใหม่ เมืองอุตสาหกรรม เมืองมหาวิทยาลัย และเมืองราชการ เป็นต้น ซึ่งมั่นใจว่าหากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ คนไทยก็จะมีโอกาสได้ใช้รถไฟความเร็วสูงของไทยในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497592673

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider