News
icon share

บิ๊กตู่ ประธานรัฐวิสาหกิจใหม่ เคลื่อนรถไฟไทยจีน-เชื่อมโลก

LivingInsider Report 2017-07-17 16:10:12
บิ๊กตู่ ประธานรัฐวิสาหกิจใหม่ เคลื่อนรถไฟไทยจีน-เชื่อมโลก

 

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง สายแรก ในประวัติศาสตร์ กำลังจะเริ่มปักหมุด ในเดือนตุลาคมปีนี้ หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง คนไทยจะได้ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี 2564 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “โครงการรถไฟความเร็วสูง


เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน” ไปเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560

 

โครงการนี้ผ่านการเจรจาระดับผู้นำรัฐบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรีกว่า 18 ครั้ง ในรอบ 3 ปี

 

รถไฟเชื่อมภูมิรัฐศาสตร์โลก

 

กระทรวงคมนาคม นำเสนอ ครม.ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า เส้นทางช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-หนองคาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับไทยสูง

 

ในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟด้านทิศเหนือ-ใต้ของอาเซียน กับจีนตอนใต้ตามแนวเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง เป็น Gateway ของการเป็นประตูกลุ่มประเทศศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย เชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศที่สำคัญผ่านโครงข่ายทางรถไฟของจีนในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญในด้านของภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นลู่ทางการค้า-การลงทุน การท่องเที่ยวเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ๆ ได้อย่างยั่งยืน

 

ในระดับประเทศ จะเป็นโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีระดับสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 47 ของ GDP ไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย กลุ่มจังหวัดใกล้เคียง

 

ในระยะที่ 2 สนับสนุนและเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซี เปิดโอกาสการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สู่การกระจาย

 

ความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานให้คนทำงานอยู่กับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

สเป็กโครงการ 1.79 แสนล้าน

 

วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ซึ่งไทยจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะทาง 253 กม. สถานียกระดับ 6 สถานี พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย

 

ใช้ระบบรถไฟฟ้า EME 6 ขบวน กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 kW. ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ความจุขบวนรถ 600 ที่นั่ง/ขบวน ใช้เวลาเดินทาง กทม.-นครราชสีมา 1 ชม. 17 นาที เปิดให้บริการปีแรก (2564) คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร ประมาณ 5,310 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2594 รถออกทุก 90 นาที

 

รายละเอียดวงเงินลงทุน ประกอบด้วย 1.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่ารื้อย้าย 13,069.60 ล้านบาท 2.ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท 3.งานระบบไฟฟ้า (M&E) 34,078.38 ล้านบาท 4.จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท 5.ค่าจ้างที่ปรึกษา 5,461.34 ล้านบาท รวม 179,683.24 ล้านบาท สำหรับอัตราค่าโดยสาร สถานีกลางบางซื่อ-นครราชสีมา 535 บาท, บางซื่อ-ปากช่อง 393 บาท, บางซื่อ-สระบุรี 278 บาท, บางซื่อ-พระนครศรีอยุธยา 195 บาท

 

ภาระของฝ่ายไทย คือหาเงินกู้ทั้งใน-ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เพื่อลงทุนทั้งโครงการ 100% ทั้งนี้ ในสัญญาที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างด้านโยธา ใช้การประกวดราคาตามระเบียบไทย บริษัทผู้รับจ้างไทย

 

ภาระของฝ่ายจีน ประกอบด้วย 3 งานด้านการออกแบบ, การควบคุมงานโยธา, งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม ทั้งนี้ วิศวกรไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเดินรถและซ่อมบำรุง จะมีการจัดตั้งบริษัทเฉพาะกิจ (SPV) ในฐานะรัฐวิสาหกิจของไทยเพื่อดำเนินงาน

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า “จะไม่มีการให้สิทธิประโยชน์สองข้างทางกับจีน ไทยจะเป็นผู้พัฒนาพื้นที่และได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาทั้งหมด ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้เดินรถ มุ่งเน้นการใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก โดยได้มีการหารือกับจีนเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติวัสดุให้สามารถเทียบเคียงวัสดุที่มีการผลิตภายในประเทศ”

 

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของโครงการ ทั้งสภาพัฒน์ – สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชงข้อวิเคราะห์ มาว่า ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented De-velopment :TOD) ตลอดแนวเส้นทาง เช่น บริเวณ สถานีสระบุรี 90 ไร่, สถานีปากช่อง 541 ไร่, สถานีนครราชสีมา 272 ไร่

 

เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบราง, มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นธรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

 

ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในเชิงกว้าง (Wider Economic Benefit) จากผลการศึกษาของ ร.ฟ.ท. คาดว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยประมาณ 8% แต่หากรวมกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา 2 ข้างทาง ด้วยจะทำให้มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 12%

 

”บิ๊กตู่” นั่งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุม ครม.นั้นได้พิจารณาข้อเสนอจากกระทรวงคมนาคมที่ระบุถึงเหตุผลที่จะต้องมีบอร์ดและรัฐวิสาหกิจใหม่ ขึ้นมากำกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ/ระหว่างรัฐบาล (G2G) เป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศ ใช้เทคนิคชั้นสูง ต้องเจรจาการเดินรถร่วม 3 ประเทศในอนาคต จึงต้องมีหน่วยงานใหม่เทียบเท่ารัฐวิสาหกิจ ขึ้นมาดำเนินการแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวให้การพัฒนารถไฟความเร็วสูงตอบสนองการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย มีเรื่องที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในหลายกระทรวง จึงเห็นสมควรจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการระดับชาติเพื่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เหมือนกรณีการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

โดยให้มีคณะกรรมการระดับชาติ (บอร์ด) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้มีคณะกรรมการบริหารโครงการ ควบคู่คณะกรรมการพัฒนาเมืองและการสร้างมูลค่าเพิ่มของรถไฟฟ้าความเร็วสูง และให้มีสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนารถไฟความเร็วสูง อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-5936

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider