News
icon share

เริ่มทดสอบวิศวกรจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช ล็อตแรก 40 คน ส.ค.นี้

LivingInsider Report 2017-07-18 17:44:17
เริ่มทดสอบวิศวกรจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช ล็อตแรก 40 คน ส.ค.นี้

 

 

สภาวิศวกรเล็งประชุมสรุปอบรมทดสอบวิศวกรจีนปลายเดือนนี้ เริ่มสอบ 40-50 คนแรก จบ ส.ค. เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ออกแบบจนซ่อมบำรุง

 

ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร สภาวิศวกรได้ดำเนินการคือ 1.การเตรียมหลักสูตร อบรมทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน ในการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ และความปลอดภัย รวมทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ

 

2.การถ่ายโอนเทคโนโลยี ตั้งแต่การเริ่มดำเนินการ การออกแบบระบบต่างๆ การควบคุมการก่อสร้าง เดินเครื่องและบำรุงรักษา ซึ่งจะให้สถาบันการศึกษาช่วยวิจัยและพัฒนาต่อไป

 

นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ฝ่ายไทยรับผิดชอบโครงการในการออกแบบอาคาร สถานีรถไฟ จีนอาจจะมีการออกแบบที่ทันสมัยเพราะมีประสบการณ์มาก่อน อย่างไรก็ตามต้องอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร และต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

 

ด้านศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า การฝึกอบรมจะใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน ทดสอบ 1 วัน โดยอบรมเรื่องกฎหมาย จรรยาบรรณและเทคนิค การถ่ายโอนเทคโนโลยี จะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ระบุในสัญญามีการทำรายงานและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ

 

“ตามประกาศคำสั่ง ม.44 มีเวลาให้ดำเนินการ 120 วัน ซึ่งปลายเดือนนี้จะหารือกับจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในส่วนการออกแบบระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้วิศวกรจีนประมาณ 40-50 คน จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรก่อนถึงจะเริ่มการก่อสร้างได้ คาดว่าจะฝึกอบรมเสร็จเดือน ส.ค.60 ข้อสอบคาดว่าจะเสร็จต้นสัปดาห์ในเดือนส.ค. 60 สภาวิศวกรมีเวลา 3 อาทิตย์ในการทำการอบรมและทดสอบให้เสร็จ โดยจะจัดฝึกอบที่สถานทูตไทยในประเทศจีน ส่วนวิศวกรที่เหลือจะทยอยเป็นรุ่น รุ่นละ 100 คน จัดอบรมทดสอบไทยบ้าง” ศาสตราจารย์ ดร.อมรกล่าวและว่า

 

ทั้งนี้หากไม่สามารถออกใบรับรองได้ทันก่อนลงนามสัญญา จะมีกฎหมายเขียนระบุไว้ในสัญญาการออกแบบว่า วิศวกรจีนต้องต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรก่อนถึงจะสามารถก่อสร้างได้ ในรูปแบบ ใบแจ้งให้ดำเนินการ (Notice to Proceed)

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-6884

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider