Favorite
แขกรับเชิญวันนี้ “วิโรจน์ เจริญตรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารติดอันดับท็อป 5 ร่วมเปิดมุมมองถึงผลกระทบที่มีต่อวงการอสังหาริมทรัพย์
“รับเหมาจับเข่าคุยกัน เดือดร้อนมากตอนนี้” คำบ่นสั้น ๆ มาพร้อมกับคำอธิบายยาว ๆ “พรีบิลท์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำถูกกฎหมาย 100% แต่เรามี 10 กว่าไซต์ก่อสร้างต้องใช้รับเหมาช่วง แรงงานก็มีเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเรื่อย ๆ เราก็ตรวจไม่ไหวหรอก ตัวรับเหมาช่วงเองก็ตรวจไม่ไหว เพราะไม่ได้มีงานต่อเนื่อง ไม่เหมือนบริษัท สมมุติรับเหมาช่วงทำงานได้ 6 เดือน ตกงาน 1 เดือนรองานใหม่ลูกน้องก็หนีหมดเพราะไม่มีอะไรจะกิน เพราะฉะนั้นรับเหมาที่รับเป็นโควตาต้องแบกต้นทุนค่าแรงงานตลอดไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงาน”
วิโรจน์ เจริญตรา
แนะลดค่าหัวเหลือ 5-6 พัน
ประเด็นการสนทนาจึงพุ่งเป้าเป็นเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” ในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการไทย”ตอนนี้ปัญหาส่วนใหญ่ การที่จะให้แรงงานต่างด้าวเข้าระบบ มีค่าใช้จ่ายตกหัวละ 2 หมื่นบาทบวกลบ ถ้าเป็นแรงงานเขมรแพงกว่าหน่อยหนึ่งแต่ได้พาสปอร์ต 10 ปี เลยแพงกว่าอยู่ที่หัวละ 2.5 หมื่นบาท แรงงานพม่าถูกกว่า”
อยากรู้ว่าเดือดร้อนยังไง ให้ลองนึกดู กรณีผู้รับเหมารายย่อยหรือผู้รับเหมาช่วง ถ้ามีลูกน้อง 10 คน คูณด้วยหัวละ 2-2.5 หมื่นบาท เท่ากับมีค่าใช้จ่าย 4-5 แสนบาท บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่มีเงินหรอก
ดูเหมือนยังเดือดร้อนไม่พอ เพราะหลังจากนำเข้าแรงงานต่างด้าวแล้ว วิธีการปกติคือนายจ้างหรือผู้นำเข้าจ่ายเงิน 2-2.5 หมื่นบาทให้ก่อน จากนั้นแรงงานต่างด้าวก็ทำงานแล้วให้หักเงินเดือนมาคืนทีหลัง
ปัญหาใหม่เกิดตามมาทันที เพราะแรงงานต่างด้าวเมื่อได้เข้ามาในประเทศไทยแล้วมักจะทำกับนายจ้างคนเดิมแค่ 1-2 เดือนก็ย้ายที่ทำงาน ย้ายไปหานายจ้างใหม่ เหตุผลง่ายนิดเดียวเพราะทำงานกับนายจ้างใหม่ได้รับเงินเต็มเดือน เทียบกับอยู่กับนายจ้างเดิมต้องถูกหักเงิน
“เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าระบบจริง ๆ รัฐบาลต้องลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้รับเหมาย่อยถ้ามีลูกน้อง 20-30 คนก็แบกค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่ไหวแล้ว เป็นไปได้ไหมอย่าให้ถึง 2 หมื่นบาท หัวละ 5-6 พันบาท หากค่าใช้จ่ายถูกลงคนทำงานทั้งนายจ้างลูกจ้างก็จะเข้าระบบกันหมด ส่วนรัฐบาลก็ไปหักภาษีหรือประกันสังคมให้มากขึ้น อาจหักกองทุนส่งคืนประเทศหรืออะไรก็ว่าไป ไปหารายได้เข้ารัฐทางอื่นจะดีกว่า”
สิ่งที่ประเมินก็คือหลังจากเวลาผ่อนผัน 6 เดือนหมดลงและเริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่มีอัตราโทษรุนแรง โดยเฉพาะค่าปรับสูงสุดหัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาทเพิ่มเป็น 4-8 แสนบาท ถ้ายังไม่สามารถจูงใจการใช้แรงงานต่างด้าวให้เข้าระบบได้ ปัญหาก็ยังทิ้งเชื้ออยู่ดี
จับตาขึ้นค่าตัว-วัสดุจ่อปรับ
คำถามหลัก คือ ต้นปีหน้าผลกระทบยังมีหรือไม่ ถ้ามี ระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน “ผมว่าหลังจากผ่อนผัน 6 เดือน สิ่งที่จะกระทบ 1.ขาดแคลนแน่นอน เกิดภาวะแย่งคนงาน บางคน (แรงงานต่างด้าว) กลับไปถ้ายุ่งยากก็ไม่มา หรือไม่มีเงินเพราะค่าปรับสูงมาก ย้ายไปทำงานประเทศอื่นก็มีนะ หรือกลับไปทำงานพม่าเลย งานที่โน่นก็บูม ค่าแรงที่พม่าก็เริ่มจะสูง ค่าครองชีพยังต่ำ ผมกลัวว่าจะกลับมาไม่หมด”
ภาวะแย่งแรงงานเล็ก ๆ ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้ว “วิโรจน์” บอกว่า ณ ตอนนี้มีการอัพค่าแรงกันแล้ว เช่น เคยจ้างแรงงานต่างด้าว 300 บาทตอนนี้เริ่มมี 320-330 บาทแล้ว ในขณะที่แม้แรงงานก่อสร้างขาดแคลน แต่คนไทยก็ไม่ทำอาชีพนี้อยู่แล้ว หรือทำน้อยลง
“ยิ่งปีหน้าบอกว่าจะมีเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐประมูลออกมาอีกจำนวนมาก ต่อไปค่าก่อสร้างขึ้นแน่นอน เพราะไซต์ก่อสร้างทุกวันนี้พึ่งแรงงานต่างด้าว 70-80%”
2.ค่าวัสดุก่อสร้างจะขึ้น เพราะอย่าลืมว่าวัสดุแต่ละตัวก็ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนราคาสินค้า โฟกัสสินค้ากลุ่มที่ใช้แรงงานหรือกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการผลิต เช่น ทำประตู หน้าต่าง ประเมินต้นทุนค่าวัสดุน่าจะเห็นเพิ่มขึ้น 5%
บ้าน-คอนโดแพงขึ้นหรือไม่
สำหรับคำถามกระแทกใจผู้บริโภคมากที่สุดหนีไม่พ้นบ้าน-คอนโดมิเนียมขึ้นราคาหรือไม่
“แนวโน้มต้นทุนค่าแรงขึ้น กระทบกับค่างาน ณ วันนี้เขาปรับกันแล้ว วันนี้ถ้าใครยังไม่ได้เซ็นสัญญา ราคาก่อสร้างก็ต้องปรับโครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่ล็อกรับเหมาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นน่าจะได้เห็นงานใหม่ต้องขึ้นแน่นอน”
ในทางเทคนิค คำนวณคร่าว ๆ ผลกระทบหากค่าแรงงานขึ้น กรณีโครงการไฮเอนด์ ถ้าใช้สูตรค่าก่อสร้างต่อต้นทุนที่ดิน 50/50 แล้วมีการขอขึ้นค่าแรง 5% เทียบเท่าต้นทุนแพงขึ้น 2.5% ของราคาอสังหาฯ
ในขณะที่โครงการโลว์เอนด์หรือกลุ่มตลาดกลาง-ล่าง ถ้าสูตรค่าก่อสร้างต่อต้นทุนที่ดิน 70/30 (ปกติทำเลตลาดนี้ที่ดินจะถูกกว่า) แล้วมีการขอขึ้นค่าแรง 5% เทียบเท่าต้นทุนแพงขึ้น 3-4% ของราคาอสังหาฯ
อย่างไรก็ตาม วิเคราะห์แบบระดับวิกฤต ปัญหาราคายังด้อยกว่าปัญหาขาดแคลนแรงงาน “ราคามันปรับได้แต่ผมมองว่าแรงงานขาดแคลนเป็นเรื่องเดือดร้อนมากกว่า ถ้าก่อสร้างและส่งมอบไม่ทัน เศรษฐกิจชะงักหมด ทั้งโปรเจ็กต์รัฐและเอกชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ลดลง ถ้าแรงงานเราไม่จูงใจ (ให้เข้ามาทำงาน) ก็ไม่รู้จะเอาอะไรแข่งขันแล้ว”
สางปมใหญ่ “ย้ายข้ามเขต”
สุดท้าย ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลอันดับแรกรัฐต้องเพิ่มโควตา และต้องเปิดให้เขา (แรงงานต่างด้าว) ทำบัตรเพราะบัตรชมพูหมดอายุ 5 ปีแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 แรงงานต่างด้าวก็ต้องเดินทางกลับไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทางอีก
กับข้อเสนอสำคัญไม่แพ้กันคือ การแก้ปัญหาการย้ายข้ามเขตของแรงงานต่างด้าว โดยขอให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็น 1 เขต
“สภาพปัญหาในกรุงเทพฯ แค่ย้ายไซต์ก่อสร้างจากพญาไทไปสีลมก็โดนจับแล้ว สัญญางานของผมในกรุงเทพฯ มี 10 กว่าไซต์ ต้องทำเรื่องวุ่นวายไปเลยล่ะ เวลาก็นานไป ควรแจ้งปุ๊บย้ายปั๊บได้เลย แต่กลายเป็นว่าต้องรออีก 7 วันซึ่งแรงงานรอไม่ได้หรอกเพราะทำงานรายวันมีรายได้รายวัน ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ในทางเทคโนโลยีตอนนี้มีบัตรสมาร์ทการ์ด แจ้งที่ไหนก็รู้ได้เลย รัฐบาลตามได้หมด”
สิ่งที่เอกชนเอาใจช่วยรัฐบาลมากที่สุดคือการสร้างสมดุลระหว่าง “ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม” เพราะเข้าใจดีว่าถ้าทุกอย่างทำมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วคงลำบากที่อยู่ ๆ จะมาแก้ให้เสร็จใน 6 เดือน
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/property/news-7161
คอนโดโครงการใหม่ 2567 บนทำเลศักยภาพ มีที่ไหนบ้าง?
12 minutes
“มาร์ควิส พญาไท” กระแสดีเกินคาด เหตุอยู่บนทำเลศักยภาพ หนุนยอดจองรอบพิเศษเป็นที่น่าพอใจ
55 minutes
Honour Group เปิดตัว “Once Wongamat” คอนโดหรูทำเลพัทยา พร้อมวิวทะเลแบบพาโนรามา เริ่ม 5.9 ลบ. เจาะกลุ่มไฮเอนด์ที่มองหาที่พักในเมืองตากอากาศ
yesterday
แกรนด์ ยูนิตี้ เตรียมจัดกิจกรรม “Holiday Cookies Workshop” ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสให้กับลูกบ้าน ณ ณ โครงการ แมสซารีน รัชโยธิน และ บลู สุขุมวิท 105
yesterday
แสนสิริปรับเป้าโอนคอนโดเป็น 14,500 ลบ. หลัง 10 เดือนแรกมียอดทะลุ 11,300 ลบ. พร้อม Sold Out รวด 4 โครงการ
yesterday
อ่านง่าย เข้าใจง่าย ไว้จะเข้ามาอ่านบ่อยๆค่ะ
โดยรวมดีนะคะ
ข้อมูลดีมาก ระเอียดมากครับ
บทความดีมากครับ