Favorite
หากพูดถึงประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านอาหาร สิงคโปร์น่าจะติดอันดับต้น ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องด้วยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารท้องถิ่นมากมาย อาทิ จีน มาเลย์ อินเดีย และตะวันตก มาเป็นรากฐานในการปรุงอาหาร ส่งผลให้ผู้ที่มาลิ้มลองอาหารที่สิงคโปร์ จะได้พบกับเมนูที่ทั้งหลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
วงการอาหารของสิงคโปร์ ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านอาหารจานต่างๆ ซึ่งมีที่มาจากเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ร้านสตรีทฟู้ดท้องถิ่นไปจนถึงร้านอาหารระดับภัตตาคารหรู
ที่มีเอกลักษณ์และรสชาติอันโดดเด่นจนสามารถคว้าดาวมิชลินมาครอบครอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากประสบการณ์ของคนทำอาหารผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ใช้ passion ด้านอาหารของตนเอง เป็นพลังขับเคลื่อนในการรังสรรค์เมนูอาหารเหล่านี้
คนสิงคโปร์รุ่นใหม่ ที่มีหัวใจรักในการทำอาหาร ใช้ passion พลังแห่งความมุ่งมั่นเป็นตัวขับเคลื่อนให้ลุกขึ้นมาเปิดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาในศูนย์อาหาร (Hawker Center) ที่นับได้ว่าเป็นการแหวกขนบทางธุรกิจ เพราะเจ้าของร้านในศูนย์อาหารส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุเสียมากกว่า
นายดักลาส อึง (Douglas Ng) ชายหนุ่มในวัยเพียง 26 ปี กับร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา Fishball Story เพิ่งคว้ารางวัลระดับดาวชมเชย หรือ “Bib Gourmand” มาครอบครองได้สำเร็จในปี 2016 หลังจากเปิดกิจการร้านได้เพียงสองปี ลูกชิ้นปลาร้านนี้ เป็นลูกชิ้นที่ทำมือทั้งหมด โดยจะมีความเด้งและเหนียวหนึบมากกว่าลูกชิ้นปลาร้านอื่นๆ เพราะทำมาจากเนื้อปลาหางเหลือง 100% และไม่มีแป้งเจือปน
Passion ของดักลาส เกิดจากการได้ทานลูกชิ้นปลารสมือคุณย่ามาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ส่งผลให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะให้คนอื่นๆ ได้สัมผัสว่าลูกชิ้นปลาที่แท้จริงควรมีรสชาติเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การเลือกเปิดร้านในศูนย์อาหาร Hawker Center เกิดจากการที่ดักลาสต้องการจะอนุรักษ์วัฒนธรรม Hawker ที่กำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ให้คงอยู่ต่อไป ด้วยแรงจากคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกับตัวเขาเอง
ต่อกันด้วยอีกหนึ่งร้านอาหารจีนกวางตุ้งดั้งเดิมดีกรีดาวมิชลิน อย่างร้าน Chef Kang’s ที่ซ่อนตัวอยู่บนถนน Mackenzie Road ในย่าน Little India โดยเจ้าของและผู้ก่อตั้งร้าน อัง ซง คัง (Ang Song Kang) มีประวัติชีวิตอันน่าสนใจ ทั้งการต่อสู้กับโรคมะเร็ง และธุรกิจล้มละลาย
ก่อนที่เขาจะใช้ passion ที่มีต่ออาหารจีน บวกกับความไม่ย่อท้อ และความรับผิดชอบในการหาเลี้ยงครอบครัว เป็นแรงผลักดันสู่การก่อตั้งร้าน Chef Kang’s ในปี 2015 และได้รับดาวมิชลินดวงแรกภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
ความพิเศษของร้าน Chef Kang’s คือการมีโต๊ะเพียง 4 โต๊ะ รองรับลูกค้าสูงสุดได้เพียง 40 คนเท่านั้น เนื่องจากเชฟคัง ต้องการลงมือปรุงอาหารด้วยตนเองทุกจาน เพื่อรักษามาตรฐานของอาหารแต่ละจานให้คงที่และสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ เขาจึงมีเพียงแค่ผู้ช่วยอีก 1 คนเป็นลูกมือที่ร้านเท่านั้น
นอกจากนี้ การที่มีลูกค้าจำนวนไม่มากในแต่ละวัน ทำให้เชฟคังมีโอกาสออกมาพูดคุยกับลูกค้าแต่ละคนเพื่อสอบถามความคิดเห็น เพื่อการพัฒนาเมนูอาหารในร้านให้ดียิ่งขึ้น
Passion ไม่ได้เป็นเพียงตัวขับเคลื่อนให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆในสิงคโปร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจ และแรงผลักดันสำคัญให้กับเชฟชาวสิงคโปร์อย่าง ไฮเคิล โจฮาริ (Haikal Johari) ต่อสู้กับอุปสรรค และก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตน จนสามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีระดับโลก
หลายคนอาจจะรู้จัก ไฮเคิล โจฮาริ ในฐานะเซเลบริตี้เชฟ ผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟดูแลเมนูอาหารให้กับ Water Library Hospitality Group เครือร้านอาหารสัญชาติไทย แบบฉบับไฟน์ ไดนิ่ง ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดีอย่าง Water Library
ความจริงแล้ว เชฟไฮเคิลได้สั่งสมประสบการณ์ในต่างประเทศอย่างเข้มข้น ผ่านการร่วมงานกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงร้านอาหารระดับดาวมิชลินมากมาย การันตีความสามารถขั้นสูงด้านการทำอาหารจากรางวัลนับไม่ถ้วน
ทว่าเมื่อสองปีก่อน เชฟไฮเคิลประสบอุบัติเหตุ จนส่งผลให้เขาไม่สามารถขยับร่างกายได้ตั้งแต่ช่วงไหล่ลงไป เขาต้องกลับมารักษาตัวที่ประเทศสิงคโปร์ และต้องนั่งทำงานบนรถเข็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ความหลงใหลและมีใจรักในการทำอาหาร นับเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เชฟไฮเคิลยังคงทำงานเป็นปกติทุกวัน พร้อมทำกายภาพบำบัดอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ปัจจุบัน เชฟไฮเคิล คือมันสมองเบื้องหลังเมนูของร้านอาหารต่างๆ ในเครือ Water Library Hospitality Group ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้ร้านอาหาร Alma by Juan Amador ที่สิงคโปร์ ได้รับดาวมิชลินไปครอบครองสองปีติดต่อกันในปี 2016 และ 2017 อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยเชฟขนมหวานแถวหน้าของเอเชีย เชฟเจนิส หว่อง (Janice Wong) เจ้าของร้านขนมหวานที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครอย่าง 2am:dessertbar ความหลงใหลในศิลปะการทำอาหารของเชฟเจนิส คือตัวขับเคลื่อนให้เธอก้าวข้ามขีดจำกัดของการทำขนมหวาน
เชฟสาวชาวสิงคโปร์คนนี้ ได้เรียนรู้ศาสตร์การทำขนมจากสุดยอดเชฟระดับโลกมากมาย อันเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเปลี่ยนความหมายของประสบการณ์ของหวานขึ้นใหม่ โดยขยายขอบเขตระหว่างของคาวและของหวาน ผ่านการคิดและค้นคว้าเมนูต่างๆในร้านของเธออย่างพิถีพิถัน
ปรัชญาการทำงานของเชฟเจนิส คือการสร้างแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องสู่โลกแห่งศิลปะที่ทานได้ซึ่งเธอเป็นคนกำหนดขึ้นเอง เชฟเจนิสเริ่มตีความหมายงานศิลปะและขนมหวานไปอีกขั้นในปี 2011 ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ทานได้ขึ้นในสตูดิโอทำงานของเธอเอง
โดยส่วนประกอบทุกชิ้นล้วนเป็นสิ่งที่ทานได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของเชฟเจนิสบนเวทีระดับโลก ด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร ส่งผลให้เธอได้รับการว่าจ้างจากแกลลอรี่ ร้านอาหาร และลูกค้ามากมายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เธอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้ในโอกาสต่างๆ
นี่เป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มคนสิงคโปร์ ที่มี passion ด้านอาหารเป็นพลังขับเคลื่อนสู่การใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพ เกิดเป็นเมนูอาหารเลิศรสที่นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองเมื่อไปสิงคโปร์
ไอเดียแต่งห้องนอนสีขาว ด้วยทฤษฎี Less is More น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้
2022-02-22
ททท. กระตุ้นการท่องเที่ยว จัดเทศกาลว่าวนานาชาติประเทศไทย
2018-03-14
5 พันธุ์พืชผัก ปลูกเองได้ในคอนโด
2019-11-01
Social Distancing สู้ COVID-19 ห่างกันสักพัก แต่ยังรักกัน
2020-03-27
คิดทุกเม็ด ครบทุกมุม คุ้มทุกเมตร กับ คุณตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม
2020-04-30
บทความหลากหลาย อ่านแล้วมีประโยชน์
อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
รีวิวได้ชวนซื้อมากๆครับ ฮ่าๆ