Favorite
รื้อเป้าผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” จากวันละ 1.4-1.5 แสนเที่ยวคน เหลือวันละ 8.6 หมื่นเที่ยวคน หวั่นซ้ำรอยสายสีม่วงหลังเปิดใช้ปี”63 คนร.ไฟเขียวรถไฟตั้งบริษัทลูกเดินรถ รับความเสี่ยงขาดทุน 14 ปี
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 11 ต.ค. 2560 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริหารโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการกลางปี 2563
ตั้งบริษัทลูกบริหาร
“รูปแบบตั้งบริษัทลูกมีรถไฟถือหุ้น 100% บริหารโครงการเหมือนแอร์พอร์ตลิงก์ ทุนจดทะเบียนเริ่ม 3,000 ล้านบาท รถไฟจะขอรัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้ต่อไป”
จากการประมาณรายได้และผู้โดยสารรถไฟสายสีแดง ที่จะเปิดให้บริการปี 2563 คาดว่าจะมีผู้โดยสารต่ำสุด 86,680 เที่ยวคนต่อวัน ผลประกอบการจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือจนกว่ารถไฟฟ้า 10 สายจะเปิดให้บริการครบ
รายได้ติดลบปีแรก
แผนธุรกิจที่รถไฟศึกษาปี 2563 จะมีรายได้ 1,044.94 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย (ebitda) ติดลบ 18.64 ล้านบาท จะเป็นบวกในปีที่ 15 หรือปี 2577 โดยมีรายได้อยู่ที่ 2,197 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 138.45 ล้านบาท จากนั้นปี 2582 ถึงเริ่มมีกำไร 402.56 ล้านบาท
“ก่อนที่ คนร.จะอนุมัติ มีการพิจารณาหลายรอบ เพราะมีข้อท้วงติงมากที่โครงการมีความเสี่ยงเรื่องขาดทุนเยอะ ก็กลัวเป็นเหมือนสายสีม่วงที่ผู้โดยสารพลาดเป้า ล่าสุดได้ปรับประมาณการผู้โดยสารใหม่ จากเดิม 1.4-1.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน ลดลงเหลือ 8 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน”
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การตั้งบริษัทบริหารรถไฟสายสีแดงมี 2 แนวทางคือ 1.ตั้งบริษัทใหม่มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมภายใน 3 ปี (2560-2563) จ้างและอบรมพนักงาน 400-500 คน ซื้ออะไหล่และอุปกรณ์ต่าง ๆ
และ 2.อัพเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะอนาคตหากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถ จะโยกคนและบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์มาดำเนินการสายสีแดงแทน วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่และเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากพนักงานมีประสบการณ์จากแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป
หวั่นซ้ำรอย 2 สาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงจะซ้ำรอยสายสีม่วงหรือไม่ นายอานนท์กล่าวว่า มีคำถามเหมือนกัน โดยรถไฟก็ได้ปรับเป้าผู้โดยสารใหม่จากเดิม 140,000-150,000 เที่ยวคนต่อวัน ลดมาอยู่ที่ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน
“สายสีม่วงที่พลาดเป้าเพราะตอนแรกยังเชื่อมต่อ 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อไม่เสร็จ แต่เมื่อเชื่อมกันแล้ว คนก็ใช้บริการเพิ่มขึ้น ส่วนสายสีแดงไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งยังมีข้อกังขาว่าจะเป็นแอร์พอร์ตลิงก์ 2 หรือไม่ จากตัวชี้วัดแต่ละโครงการจะต่างกันเรื่องทำเล”
นายอานนท์กล่าวว่า จะใช้บทเรียนทั้งหมดมาปรับใช้กับสายสีแดง เช่น อำนาจบริหารจะอยู่ภายใต้บริษัทนี้ทั้งหมด โดยบริหารแบบเอกชนเพื่อให้คล่องตัว จะไม่เหมือนแอร์พอร์ตลิงก์ที่รับจ้างเดินรถอย่างเดียวแต่อำนาจขึ้นอยู่กับรถไฟ
เปิดพื้นที่สร้างรายได้
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ 13 สถานีของสายสีแดงจะให้บริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ที่ คนร.อนุมัติมาบริหารรวมทั้งหมด 38,469 ไร่ โดยให้เอกชนเข้าประมูล
ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายการเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากรายได้ค่าโดยสาร ส่วนค่าโดยสารสายสีแดงจะใช้อัตราเดียวกับแอร์พอร์ตลิงก์เริ่มต้นที่ 15-45 บาท
1 พ.ย.สีม่วงเก็บ 14-42 บาท
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหารและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2560 คณะกรรมการ รฟม.อนุมัติให้ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ โดยกลับไปใช้อัตราปกติที่ 14-42 บาท เริ่มวันที่ 1 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารลดลง 10% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 46,844 เที่ยวคนต่อวัน เพราะได้จัดโปรโมชั่นลดราคา 50% เหลือ 14-29 บาท วันหยุดเก็บ 15 บาทตลอดสาย
แต่ รฟม.จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 564,847 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อวัน โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถให้ 170 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 5.6 ล้านบาทต่อวัน
“บอร์ดต้องการเพิ่มรายได้จึงให้ยกเลิกโปรโมชั่นลดราคาและหวังลดภาระภาครัฐที่สนับสนุนให้วันละ 5 ล้านบาทด้วย”
หากผู้โดยสารสายสีม่วงมาต่อรถไฟใต้ดินจะยังคงลดค่าแรกเข้าต่อที่ 2 ให้ หากนั่งจากสถานีคลองบางไผ่-หัวลำโพง เสียค่าโดยสาร 70 บาท และต่อไป รฟม.จะออกบัตรประเภทรายเดือน บัตรโดยสารไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ฯลฯ
นายฤทธิกากล่าวว่า ส่วนบริการอาคาร “จอดแล้วจร” สายสีม่วงจะปรับเป็นจอง 2 ชั่วโมงจ่าย 10 บาท จากเดิมเสีย 5 บาท จะเริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้ จากผลศึกษาของ รฟม.พบว่าสายสีม่วงจะมีผลประกอบการขาดทุนในช่วง 11 ปีแรก และจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 12 เป็นต้นไป
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/property/news-56791
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
มีความหลายหลายในการรีวิวดีค่ะ
ดีทุกโครงการเลยนะครับ
ได้ประโยชน์มากๆ อ่านสนุกดี