Favorite
ขยับมาหลายรอบในที่สุด “ระบบตั๋วร่วม” หรือบัตรแมงมุม ได้ฤกษ์วันที่ 18 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา จดปากกาลงนาม MOU ระหว่าง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ผู้บริหารตั๋วร่วม กับ 2 ยักษ์ผู้เดินรถไฟฟ้า “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ และ “บีอีเอ็ม-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ของเจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์
หลังจากนี้ผู้เดินรถทั้งบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินจะต้องกลับไปปรับปรุงระบบให้สามารถรับบัตรแมงมุม จะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี มีกำหนดพร้อมปลายปี 2561
“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เป้าหมายแรกคือบัตรแมงมุม สามารถใช้กับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ได้ฝังชิปบัตรแมงมุมอยู่ในบัตรสวัสดิการ
ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ จะเริ่มภายในเดือน มิ.ย. 2561 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ กับสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าบีทีเอส เรือด่วนเจ้าพระยา ทางด่วน มอเตอร์เวย์ จะเริ่มใช้บริการภายในเดือน ต.ค. 2561 หรืออาจจะเริ่มได้เร็วกว่านั้น เนื่องจากผู้เดินรถต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีติดตั้งระบบให้รองรับบัตรแมงมุมได้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ประชาชนที่ใช้บัตรแมงมุมแทนเงินสด ทั้งใช้บริการระบบขนส่ง ซื้อสินค้าและชำระค่าบริการต่าง ๆ
“หลังจากนี้ รฟม.ต้องไปเจรจากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในส่วนบริษัทร่วมทุนในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือ CTC และเร่งสรุปภายใน 3 เดือนถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ”
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า เงินลงทุนในการติดตั้งระบบให้สามารถอ่านบัตรแมงมุมได้ มีวงเงินรวม 578 ล้านบาท แยกเป็นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 117 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน วงเงิน 135 ล้านบาท สายสีม่วง วงเงิน 125 ล้านบาท บีทีเอส วงเงิน 151 ล้านบาท และสายสีเขียวต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง, สนามกีฬา-บางหว้า และแบริ่ง-สมุทรปราการ ใช้เงิน 50 ล้านบาท
“ระบบบีทีเอสปัจจุบันมีบัตรแรบบิทมีคนถืออยู่ 3 ล้านใบ ที่คล้ายกับระบบตั๋วร่วมอยู่แล้ว จะลงทุนไม่มาก แต่สายสีน้ำเงินนั้นยังใช้บัตรโดยสารที่ใช้แตะเข้าระบบธรรมดา อาจจะต้องลงทุนอยู่พอสมควรเพื่อให้อ่านบัตรแมงมุมได้”
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการและรองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รฟม. กล่าวว่า เบื้องต้นหากแอร์พอร์ตลิงก์จะเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. 2561 รฟม.จะต้องทำการจำหน่ายบัตร คาดว่าน่าจะออกบัตรภายในสถานีรถไฟฟ้าหรือร้านสะดวกซื้อ
ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า จะพยายามติดตั้งระบบอ่านตั๋วร่วมให้ทันภายในเดือน ต.ค. 2561 ส่วนค่าโดยสารหรือค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนระบบจะต้องหารือกันอีกครั้ง
ขณะที่ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ กล่าวว่า หลังเซ็นสัญญาแล้วบริษัทจะยื่นข้อเสนอรายละเอียดการปรับปรุงระบบของสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงให้ รฟม.พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน ต.ค. 2561
ส่วนจะมาตามนัดหรือไม่ยังต้องลุ้น เพราะ “ระบบตั๋วร่วม” ไม่ได้เพิ่ง MOU กันครั้งแรกในยุครัฐบาล คสช. ได้ริเริ่มกันมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัย “รัฐบาล คมช.” มีพลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการเซ็น MOU กับ “บีทีเอสและบีอีเอ็ม” หรือบีเอ็มซีแอลในขณะนั้น เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2550
เพื่อทำบัตรโดยสารร่วมในระยะแรก ด้วยเงินลงทุน 200 ล้านบาทในการจัดตั้งบริษัท เป็นการลงนามในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยก็ยังไม่สามารถรันร่วมกันได้ จาก “รัฐบาล คมช.” เปลี่ยนผ่าน “รัฐบาลเพื่อไทย” ไหลมาถึง “รัฐบาล คสช.”
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระบบตั๋วร่วมของประเทศไทยในเบื้องต้นจะเป็นรูปแบบตั๋วต่อระบบใช้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ได้แก่ บีทีเอสสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ ด้วยบัตรใบเดียว เพื่อให้เดินทางสะดวก โดยค่าโดยสารยังจ่ายตามอัตราปกติ
ส่วนจะเป็นระบบตั๋วร่วมสมบูรณ์แบบให้เป็นราคาที่ถูกลงเหมือนต่างประเทศ เช่น ลดค่าแรกเข้าต่อที่ 2 ยังต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องมีบริษัทกลางมา
บริหารจัดการค่าเดินทาง ที่สำคัญต้องเจรจาผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าให้ลดค่าแรกเข้า ไม่ว่าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งยังมีสัญญาสัมปทานผูกมัดกับ กทม.และ รฟม. โดยบีทีเอสจะสิ้นสุดในปี 2585 ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินจะสิ้นสุดในปี 2572 ต้องแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งไม่รู้ว่าเอกชนจะยื่นข้อเสนอให้รัฐรับอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารด้วยหรือไม่
ขณะที่รถไฟฟ้าสายใหม่จะเปิดใช้ในอนาคต ในสัมปทานระบุชัดให้เข้าระบบตั๋วร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ทั้งความสะดวกและค่าเดินทางที่ถูกลง รวมถึงใช้บัตรใบเดียวได้ทั้งระบบขนส่งสาธารณะและซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อได้ ซึ่งในอนาคตบัตรอิเล็กทรอนิกส์นี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่มากในประเทศไทย
เพราะไม่ใช่แค่บัตรรถไฟฟ้า ตั๋วร่วม ยังมีบัตรสมาชิกของธุรกิจประเภทต่าง ๆ อีก จะเป็นบิ๊กดาต้าของประเทศไทยที่ใคร ๆ อยากจะชิงธงเป็นผู้นำในตลาด
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/property/news-62969
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
ชอบสไตล์การเขียนจังเลยคะ เข้าใจง่าย น่าติดตาม
อ่านสนุกดีค่ะ ถึงแม้ส่วนตัวจะไม่ชอบอ่าน แต่บทความที่นี่อ่านได้เรื่อยๆเลยค่ะ
อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
ไม่ต้องไปดูห้องจริงเลยค่ะ รีวิวแน่นมากค่ะ ทั้งข้อมูล และภาพ