News
icon share

ตลาดรับสร้างบ้านโค้งสุดท้ายกำลังซื้อฟื้น

LivingInsider Report 2017-11-14 10:51:49
ตลาดรับสร้างบ้านโค้งสุดท้ายกำลังซื้อฟื้น

ตลาด‘รับสร้างบ้าน’โค้งสุดท้ายกำลังซื้อฟื้น

 

ธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่าความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคอยู่ในภาวะ“ทรงตัว” แต่เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการต่างเร่งกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี

 

พิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builders Association: HBA) กล่าวว่าช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีและต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2561 ตลาดน่าจะมีความคึกคักมากขึ้น สะท้อนจากแนวโน้มตั้งแต่ช่วงที่สมาคมฯจัดงาน Home Builder & Materials Expo 2017 เดือนส.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ปัจจัยบวกที่มาสนับสนุนตลาดรับสร้างบ้านโค้งสุดท้าย มาจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมถึง ภาคการส่งออกของไทยที่ขยายตัวค่อนข้างสูง ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเติบโตของตลาดส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ

 

นอกจากนี้ความชัดเจนด้านการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับบรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจ การลงทุนที่ต่อเนื่องในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการลงทุนอื่นๆ ของภาครัฐ จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของภาคเอกชน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคทุกกลุ่มอาชีพ

 

ดังนั้นเพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภคที่ใช้บริการปลูกสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ลงนามความเข้าใจกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อปล่อยกู้ปลูกสร้างบ้านผ่านแคมเปญ Home For All ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก 2.90% พิเศษ 4 ฟรี คือ ฟรี ค่าจดจำนอง, ฟรี ค่าจดทะเบียนสิทธินิติกรรม, ฟรี ค่าประเมินหลักประกันและ ฟรี ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้

 

แคมเปญดังกล่าวหวังกระตุ้นผู้บริโภคที่มีความสนใจปลูกสร้างบ้านภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจ ที่ระบุว่าเริ่มมีผู้บริโภคมีแนวโน้มปลูกสร้างภายใน 6 เดือน สัดส่วน 12.58% และภายใน 1 ปี สัดส่วน 26.46% 

 

"การจัดโปรโมชั่นส่งท้ายปี เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้ารับสร้างบ้าน ตอบรับสัญญาณตลาดฟื้นตัว คาดปีนี้เติบโตใกล้เคียงปีก่อน ที่ราว 5-10% ซึ่งมีมูลค่า 10,200 ล้านบาท ทางด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน นับจากนี้คงเห็นผู้ประกอบการจุดพลุแคมเปญการตลาดส่งท้ายปี เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคที่ชะลอตัวใรช่วงต้นปี  

 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยท้าทายตลาดรับสร้าง จากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งภาวะเศรษฐกิจภายนอกและในประเทศ รวมถึงการปรับขึ้นราคาของวัสดุก่อสร้างในบางรายการ ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 

 

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจคงต้องปรับตัวรองรับกับการขยายตัวของกำลังซื้อทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงตลาดต่างจังหวัด ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ด้วยการออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของตลาดและเทรนด์ต่างๆที่จะตามมาในอนาคต 

 

ทั้งด้านเทรนด์นวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง การอยู่อาศัยแบบไร้สาย ซึ่งการออกแบบบ้านนั้นก็ต้องตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสหรือ “สมาร์ท ลิฟวิ่ง” รวมถึงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยการออกแบบต้องตอบโจทย์ทั้ง 3 Generations คือ รุ่นปู่ย่า -พ่อแม่ และรุ่นลูกหลาน

 

ส่องความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำรวจความต้องการ “ที่อยู่อาศัย” ของประชาชนทั่วประเทศผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” หรือ Home for All รวมทั้งผ่านเว็บไซต์ ธอส.และศูนย์ข้อมูลฯ โดยสำรวจช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย.2560 รวมกลุ่มตัวอย่าง 78,586 รายพบว่าความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย จำนวน 23,973 ราย สัดส่วน 30.5% ในกลุ่มที่ต้องการปลูกสร้างช่วง 1-3 ปีนี้ จำนวน 19,109 ราย กลุ่มที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถที่จะผ่อนชำระได้ มีจำนวน 28%

 

ด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการปลูกสร้าง ส่วนใหญ่ 21.7% อยู่ที่ 1-2 ล้านบาท รองลงมาต้องการปลูกสร้างในช่วงราคา 7 แสนบาท- 1 ล้านบาท สัดส่วน 18.7%

 

“ความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนรวมกัน 70% ส่วนราคา 1-3 ล้านบาท มีสัดส่วน 27.2% ราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนรวมกัน 2.8%”

 

ภาคที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 33.1% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 24% ภาคใต้ 12.7% กรุงเทพฯ-ปริมณฑล สัดส่วน 10.6% ภาคตะวันออก 8.2% ภาคตะวันตก 6.5% และภาคกลาง 4.8% ในแต่ละจังหวัดของแต่ละภูมิภาค จะมีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยกระจายไปยังอำเภอต่างๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง หรืออำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด

 

ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการปลูกสร้าง ส่วนใหญ่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท รองลงมา 1-3 ล้านบาท ส่วนราคามากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนน้อยที่สุด

 

สรุปได้ว่าภาพรวมความต้องการที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่มีศักยภาพ ในช่วงปี 2560-2562 สัดส่วนกว่า 60% ทั่วประเทศ

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ

 

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/780805

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider