News
icon share

ปั้นต้นแบบบางซื่อเมืองอัจฉริยะ เฟสแรก 35 ไร่ใหญ่สุดในอาเซียน

LivingInsider Report 2017-11-24 10:03:37
ปั้นต้นแบบบางซื่อเมืองอัจฉริยะ เฟสแรก 35 ไร่ใหญ่สุดในอาเซียน

ปั้นต้นแบบบางซื่อเมืองอัจฉริยะ เฟสแรก 35 ไร่ใหญ่สุดในอาเซียน

 

เนรมิตสถานีบางซื่อ 218 ไร่ ศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจ “ไจก้า” ชูเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชนและเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในไทยและภูมิภาคอาเซียน แนะประมูลแปลง A 35 ไร่ ลงทุน 1.1 หมื่นล้าน แจ้งเกิดโครงการ รถไฟคาดต้นปีหน้าเปิด PPP 30 ปี

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2558 ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนไทยอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่องค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการแบ่งพัฒนา 2 ระยะ ในระยะแรกสร้างจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. ค่าก่อสร้าง 276,225 ล้านบาท

 

“ญี่ปุ่นแนะนำได้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง ต้องมีการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่ม เตรียมไว้ 7 เมืองจาก 7 สถานี ได้แก่ กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการและเศรษฐกิจ โดยไจก้าจะช่วยศึกษา ส่วนการลงทุนเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วม”

 

โดยไจก้าเริ่มศึกษาพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อเป็นลำดับแรก โดยใช้ผลการศึกษาเดิมของ ปตท.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ศึกษาไว้มาเป็นพื้นฐาน จะดูภาพรวมทั้งแผนการใช้พื้นที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สาธารณะ โดยกำหนดให้ “บางซื่อเป็นประตูสู่กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” เนื่องจากทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางระบบคมนาคมในกรุงเทพฯ จึงมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาเป็นเมือง

 

“สถานีกลางบางซื่อญี่ปุ่นสนับสนุนเกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ เพราะเป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางด้านระบบมีทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟขนส่งสินค้า ที่คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน และยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจและช็อปปิ้งมอลล์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน ศูนย์ประชุม รวมถึงเป็นย่านสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ”

 

นายอาคมกล่าวและว่าวัตถุประสงค์การศึกษาของญี่ปุ่นให้สถานีบางซื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และพัฒนาเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน การศึกษานี้ไม่กระทบต่อแผนประมูลพื้นที่แปลงเอ 35 ไร่ ที่ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินการPPP ส่วนแผนพัฒนาของไจก้าใช้เวลา 15 ปี เริ่มปี 2560-2575 แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลศึกษาไจก้า ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ศึกษาพื้นที่สถานีบางซื่อ มีเนื้อที่ 218 ไร่ ลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่ง 4 โซน ไจก้าแนะนำให้เริ่มโซน A 35 ไร่เป็นลำดับแรก เงินลงทุน 11,573 ล้านบาท อยู่ห่างสถานี 50-100 เมตร พัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีอาคารสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม 3-4 ดาว ศูนย์การค้า ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เป็นระยะเวลา 30 ปี ล่าสุดคณะกรรมการ PPP มีมติรับทราบแล้ว คาดว่าจะเริ่มประมูลต้นปี 2561

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-76983

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider