Favorite
สองสามวันมานี้ผมรู้สึกนอนไม่ค่อยพอ จนกลายเป็นมนุษย์แพนด้าประจำออฟฟิศไปแล้ว เพราะอะไรน่ะหรอ ? ก็ทั้งเสียงทะเลาะกันตอนห้าทุ่ม และเสียงเพลงของวงสังสรรค์ที่เปิดยันตีสองของข้างบ้านนั่นแหละที่เป็นตัวการ แถมตื่นเช้ามายังต้องเจอกองอึของสุนัขนิรนามที่หน้าประตูบ้านอีก ... ปวดหัวเลยแบบนี้
ปัญหากับเพื่อนบ้านเนี่ยสร้างความปวดหัวให้กับหลายๆ คนมานักต่อนักแล้วนะครับ เป็นเรื่องที่ทั้งรับมือยากและเป็นปัญหาระยะยาวอีกด้วย เพราะบ้านเราก็ไม่ได้เปลี่ยนบ่อย อยู่กันทีหลายสิบปี ก่อนซื้อก็ว่าเลือกโครงการที่มีคุณภาพดีแล้วนะ แต่นิสัยของเพื่อนบ้านนี่แล้วแต่บุญแต่กรรมจริงๆ ว่าจะเจอแบบไหน
แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งหมดหวัง เรามีทางแก้มาบอก มีทางออกมาให้ กับมาตรการจากเบาไปหาหนักทั้ง 6 ข้อนี้ ที่จะช่วยจัดการเพื่อนบ้านจอมกวนให้อยู่หมัด ไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. รอยยิ้มพิมพ์ใจ
เริ่มจากทางแก้แบบเบาๆ กันก่อนด้วยการแจกรอยยิ้มพิมพ์ใจเพื่อนบ้าน การผูกมิตรไว้ก่อนถือว่าเป็นสุดยอดการแก้ปัญหาแล้วล่ะครับ เพราะคนไทยเราขี้เกรงใจ ยิ่งเป็นคนรู้จักมักจี่กันอยู่แล้วความเกรงใจยิ่งมากขึ้น ดังนั้นควรเริ่มจากการทำความรู้จักก่อนเลยนี่แหละ ได้ทั้งแก้ปัญหา และเผลอๆ จะได้เพื่อนใหม่ หรือคนรู้ใจด้วยซะอีกนะ
2. ของฝากติดไม้ติดมือ
หากยิ้มให้กันไปสักระยะแล้วเพื่อนบ้านยังไม่มีความเกรงใจอีก ลองมุ่งสันติวิธีมากกว่าเดิมดูนะครับ อย่างการ "ให้ของฝาก" ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเหมือนกันนะ เพราะการให้ของฝากหรือแบ่งกับข้าวที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ จะยิ่งเพิ่มความสนิทสนมให้มากขึ้น ทีนี้ก็ได้แต่หวังล่ะนะว่าเพื่อนบ้านจะเห็นคุณค่าของขนมที่เราเอามาฝากบ้าง
3. แปะโน๊ตบอกความในใจ
สำหรับบางคนที่อยู่คอนโดจะเหมาะมากกับการใช้วิธีนี้ เพราะบางทีเราก็ไม่อยากเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าใช่มั้ยล่ะ ดังนั้นการเขียนความต้องการอย่าง "เมื่อคืนเสียงดังมากจนนอนไม่ได้เลยค่ะ รบกวนลดเสียงลงหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ" ไปแปะไว้ที่ประตูห้องเจ้าตัว ก็ดูจะเป็นวิธีที่น่าจะได้ผลดีที่เดียว แต่เค้ารับรู้แล้วจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมั้ยก็ต้องแล้วแต่บุญกรรมล่ะครับ
ขอบคุณภาพจาก kesher.org.il
4. เจรจาอย่างสันติ
หากส่งข้อความผ่านโน๊ตแผ่นน้อยแล้วยังไม่ได้ผลอีก ก็คงต้องคุยตรงๆ แล้วล่ะครับ โดยหากจำเป็นต้องคุยเราก็ควรใช้กิริยาและภาษาที่สุภาพมากๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจที่อาจทำให้ทะเลาะกันได้ โดยอาจหาจังหวะตอนเช้าหรือตอนเย็นที่เจอกันพอดีทักทายตามปกติ และตามด้วยคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสุภาพ เชื่อว่าเพื่อนบ้านต้องรับฟังและปรับปรุงตัวแน่นอน
ขอบคุณภาพจาก mendetails.com
5. คนกลางช่วยไกล่เกลี่ย
การขอความช่วยเหลือให้คนกลางมาไกล่เกลี่ยก็น่าสนใจเหมือนกันครับ โดยคนกลางที่ว่านี้อาจจะเป็นนิติบุคคลของคอนโด หมู่บ้าน หรือคนรู้จักของทั้งเราและบ้านข้างๆ ก็ได้ โดยถ้าเป็นคนสนิทของเพื่อนบ้านจะยิ่งดีเพราะเค้าจะเกรงใจและฟังมากกว่าเราพูดเอง แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ก็แจ้งทางนิติบุคคลให้คุยหรือเตือนเจ้าของบ้านนั้นอีกทีก็ได้ครับ ปลอดภัยกว่า
ขอบคุณภาพจาก wegointer.com
6. ฝากตำรวจช่วยคลี่คลาย
ทางสุดทายนี้เป็นวิธีที่ผมไม่อยากแนะนำให้ใช้เลย นั่นก็คือการแจ้งพี่ตำรวจให้มาช่วยจัดการครับ เพราะมันดูรุนแรงและอาจเป็นจุดแตกหักกับเพื่อนบ้านได้เลย แต่พฤติกรรมบางอย่างก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะครับ อย่างการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือทำให้เราใช้ทรัพย์สินของเราได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ก็พึ่งตำรวจเถอะครับ
ขอบคุณภาพจาก workpointnews.com
ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะคนข้างบ้านนั้นนอกจากเป็นเพื่อนแล้ว ยังช่วยสอดส่องภัยอันตรายของบ้านเราได้อีกด้วย เรียกได้ว่ามีคนข้างบ้านเป็นมิตรยังไงก็ดีกว่าเป็นศัตรูใช่มั้ยล่ะ เพราะงั้นลองนำไอเดียดังกล่าวไปปรับใช้ดู รับรองว่าแก้ปัญหาได้แน่นอน
ห้าห่วง ผงาดคว้าฉลากหลังคาประหยัดพลังงานเบอร์ 5 บนหลังคาสีเข้มเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
2017-12-25
โทนสีไหน เหมาะกับธุรกิจอะไร?
2019-10-09
แต่งห้องนอนแบบ Loft Loft บอกเลยชอบ เห็นแล้วใช่
2021-02-19
MEMENTO Scope for Personality สุขภัณฑ์ดีไซน์มินิมัลโดย วิลเลรอย แอนด์ บอค
2017-07-21
ไอเดียแต่งห้องสไตล์คาเฟ่ สวยชิลเหมือนนั่งที่ร้านโปรด
2020-06-22
เยี่ยมเลยค่ะ
เขียนบทความน่าอ่านมากเลย
รีวิวอ่านง่าย รูปภาพสวยครับ
ชอบมากค่ะ ชอบทุกบทความเลย