News
icon share

บูมใต้ทางด่วนปั๊มรายได้ กทพ.เตรียมเอ็มโอยูปตท.-บางจากสร้างจุดพักรถ

LivingInsider Report 2016-09-05 13:02:28
บูมใต้ทางด่วนปั๊มรายได้ กทพ.เตรียมเอ็มโอยูปตท.-บางจากสร้างจุดพักรถ

 

 

การทางพิเศษฯเดินหน้ายกพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางด่วนและใกล้ด่านให้เอกชนพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ มี ปตท. และบางจาก สนใจพื้นที่ย่านสุขุมวิทซอย 50, ด่านจตุโชติ-รามอินทรา และด่านบางแก้ว พัฒนาในรูปแบบ Rest Area ให้บริการเติมน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ พร้อมที่จอดรถ แบ่ง 30% ของรายได้ ผู้ว่า กทพ.ปลื้มยอดผู้ใช้ทางด่วนใหม่ด่านศรีรัช-วงแหวนรอบนอกทะลุ 3 หมื่นคัน

 

 

แหล่งข่าวระดับสูงของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากกรณีที่กทพ.ได้เปิดให้ภาคเอกชนพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนและพื้นที่ใกล้ด่านในรูปแบบสถานีบริการน้ำมันและจุดพักรถใกล้ด่านเก็บค่าผ่านทางใน 3 จุดคือด่านประชาชื่น พื้นที่ใกล้คลังน้ำมันบางจาก และย่านบางนาให้กับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ล่าสุดปตท. และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ได้เข้าหารือกับกทพ.เพื่อแสดงความสนใจจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ใต้ทางด่วนและพื้นที่ใกล้ด่านของกทพ. ประกอบไปด้วย บริเวณสุขุมวิทซอย 50 พื้นที่กว่า 4 ไร่ บริเวณด่านบางโปร่ง ถนนกาญจนาภิเษก(ใกล้ช้างสามเศียร) ประมาณ 50 ไร่ ส่วนพื้นที่บริเวณด่านบางแก้วจะมีพื้นที่ของกทพ.กว่า 2 ไร่ พื้นที่ของกรมทางหลวง(ทล.)บางส่วนอีกประมาณ 5-6 ไร่

 

 

โดยปตท. แสดงความสนใจลงทุนภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ปตท., กรมทางหลวง และกทพ. คาดว่าจะมีการเซ็นบันทึกความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่ายในเร็วๆนี้ ทั้งนี้บริษัทปตท.จะเป็นผู้ออกแบบมานำเสนอให้กทพ.พิจารณา ส่วนรายได้จะเป็นไปในรูปแบบการแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ต่อกัน โดยกทพ.และทล.เป็นเจ้าของที่ดินที่นำที่ดินมาลงทุน และปตท.เป็นฝ่ายบริหารจัดการและลงทุนก่อสร้างทั้งหมด รูปแบบคล้ายกับที่ปตท.ดำเนินการในด่านอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อน

 

 

นอกจากนั้นยังใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณหมอชิตใหม่ประมาณ 2-3 ไร่เพื่อเป็นที่จอดรถตู้ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของรัฐเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรแถมยังสามารถหารายได้เชิงพาณิชย์เพื่อนำไปชดเชยรายจ่ายไม่ให้เป็นภาระแก่รัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

“เบื้องต้นการเจรจาปตท.เสนอว่าอย่างน้อยควรใช้ระยะเวลา 20 ปีซึ่งกทพ.เสนอให้ใช้ระยะเวลา 5 ปีแล้วต่อสัญญาครั้งละ 5 ปีต่อเนื่องกันไปเพื่อไม่ให้มองว่าจะเป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลานานเกินไปและลดความยุ่งยากซับซ้อนต่างๆอีกทั้งเป็นอำนาจที่คณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.มีสิทธิ์อนุมัติให้ดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องเสนอครม.”

 

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ด้านการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นในปี 2559 นี้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2559 กทพ.กำหนดเป้าหารายได้ไว้จำนวน 300 ล้านบาท ล่าสุดรายได้ทะลุ 310 ล้านบาทซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่รับรายได้จำนวนทั้งสิ้น 279 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ 3-4 แปลงดังกล่าวจะยกเป็นยอดรับรู้รายได้ในปี 2560 ที่คาดว่าจะได้รับเป้ารายได้สูงกว่า 310 ล้านบาท แต่ยังต้องไปศึกษารายละเอียดเชิงลึกเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายประสบภาวะทางธุรกิจคาดว่าจะส่งผลต่อรายได้ในปี 2560 ด้วยเช่นกัน

 

 

ทั้งนี้แผนดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของกทพ.เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รูปแบบ Rest Area จำนวน 3 จุดคือ ด่านประชาชื่น 1 จุด(เชื่อมที่ดินเอกชน)และที่ใกล้คลังน้ำมันบางจาก(ที่ดินของกองบัญชาการทหารสูงสุด)ทั้งขาเข้าและขาออก จำนวน 2 จุด ปตท.เป็นผู้รับสิทธิ์พัฒนาพื้นที่ทั้ง 3 จุดโดยพื้นที่ด่านประชาชื่นบริษัท เรสแอร์เรีย จำกัด ของปตท.ขอเปิดพื้นที่เชื่อมทางด่วนกับกทพ.โดยชำระค่าเชื่อมพื้นที่เดือนละ 3 แสนบาท และพื้นที่บางจากชำระค่าเปิดทางเชื่อมเข้าทางด่วนเดือนละ 2 แสนบาท รูปแบบปตท.เป็นผู้ลงทุนหลักก่อนที่จะกระจายให้รายย่อยเข้ามาจับจองพื้นที่ดำเนินธุรกิจ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร เป็นต้น

 

 

“เป็นการบริการผู้ใช้ทางให้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และยังป้องกันการบุกรุกพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใหญ่กทพ.จะเปิดให้เช่า ไม่ได้เน้นที่จะลงทุนเอง ล่าสุดบริเวณด่านจตุโชติ รามอินทรา ใกล้มอเตอร์เวย์สาย 9 บริษัทบางจากก็แสดงความสนใจเข้ามาพัฒนาบนพื้นที่เกือบ 100 ไร่เพื่อใช้เป็นที่จอดพักรถ โดยอยู่ระหว่างการเร่งรัดให้เสนอเรื่องให้กทพ.พิจารณาแล้ว ยังอยู่ระหว่างการเตรียมพิจารณาเงื่อนไขตามที่บางจากเสนอแต่โดยหลักจะเน้นการจัดส่วนแบ่งรายได้เช่นเดียวกับจุดอื่นๆ คือ 30% ของยอดรายได้ให้กับกทพ.”

 

 

ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กล่าวว่า ภายหลังจากเปิดให้บริการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมานั้นจนถึงขณะนี้ครบ 1 สัปดาห์ในการเปิดให้บริการโดยจากการสำรวจการใช้บริการพบมีจำนวนรถใช้งานทั้งเช้า – เย็นประมาณ 3 -4 หมื่นคันต่อวัน

 

 

“ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เนื่องจากทางด่วนศรีรัชยังเป็นทางด่วนสายใหม่เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาให้คนกรุงเทพฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เส้นทางใหม่ ส่วนในด้านปัญหาจราจรบริเวณด่านต่างๆ ยังไม่มีปัญหา จะมีเฉพาะบริเวณด่านบางซื่อ2 ที่ยังมีปัญหาจราจรติดพันมาจากทางด่วนขั้นที่ 2 เท่านั้น ส่วนปัญหาจุดขึ้นลงทางอื่นๆยังไม่มีปัญหารวมถึงระบบอีซี่พาสยังใช้การได้ดี โดยได้ประสานงานกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) ที่ดูแลภาพรวมจราจรบนคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี”

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

 

 

http://www.thansettakij.com/2016/09/05/93109

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider