News
icon share

ต้นร่าง ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง มิติใหม่TCDCปลุกพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่

LivingInsider Report 2016-07-06 11:53:14
ต้นร่าง ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง มิติใหม่TCDCปลุกพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่

 

 

ซุ่มทำงานกันมาตั้งแต่กรกฎาคม 2558 กับโครงการ”สร้างสรรค์เจริญกรุง-Co-Create Charoenkrung) ภายใต้แนวคิดใหม่การออกแบบเชิงพื้นที่ ภายใต้กระบวนการสร้างความร่วมมือ ระดมความคิดสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่ม จนได้ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์(Creative District) แห่งแรกของไทยแล้วนั้น

 

 
 
 

 

เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ อาคารไปรณีย์กลาง ริมถนนเจริญกรุง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์กรมหาชน) (สบร.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีแผนจะย้ายที่ทำการจากอาคารดิ เอ็มโพเรี่ยม มาอยู่ที่ตึกไปรณีย์กลางในต้นปีหน้า ได้จัดสัมมนาผลวิจัย”ถอดรหัสย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง” ขึ้น เพื่อประมวลเป็นองค์ความรู้กระบวนการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ สู่การขยายผลทั่วประเทศต่อไป เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา โดยย้ำว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของรัฐบาลนี้คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ และการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อเป็นพลังสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต กำลังเป็นประเด็นที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัฐของภาครัฐ ที่จะเอื้อให้ธุรกิจสร้างสรรค์เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์(Creative Ecology) ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์สาธารณะ เช่น การส่งเสริมมาตรการทางธุรกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่กลางในการบ่มเพาะ แสดงความสามารถ การพบปะรวมตัวกัน เพื่อจุดประกายแนวคิดและธุรกิจใหม่ ๆ

 

 

“โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุงนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ภาครัฐลงทุน และให้ความสำคัญ เพื่อสร้างต้นแบบของพื้นที่สร้างสรรค์แห่งแรกของไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนนำไปขยายผลทั่วประเทศ”

 
 

ด้านนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ TCDC เผยว่า TCDC ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดำเนินโครงการนี้ขึ้น เพื่อสร้างแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับย่านเจริญกรุง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสภาคประชาชนให้เสนอความคิดสร้างสรรค์ มาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของพวกเขาเองอย่างเต็มรูปแบบ
โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ภายใต้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking ที่มุ่งเน้นการออกแบบร่วมกัน หรือCo-Creation โดยนักออกแบบทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ลงพื้นที่เข้ถึงประชาชนในย่านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการเสนอปัญหา ร่วมกันกำหนดความต้องการ และหาโอกาสการพัฒนา เพื่อออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์เจริญกรุงร่วมกัน วันนี้โครงการฯดำเนินการมาครบ 1 ปี จึงได้จัดทำผลงานวิจัย”ถอดรหัสย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เพื่อสรุปความสำเร็จและภาพรวมของโครงการ

 

 

“จากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าย่านเจริญกรุงไม่มีพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมนันทนาการ ทำให้คนในพื้นที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่ หรือประยุกต์ใช้พื้นที่ในลักษณะอื่น เช่น ไปออกกำลังกายที่สวนลุมพินี จากความต้องการนี้ โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง จึงวาง 3 แนวคิดหลักคือ การพลิกฟื้น(Review) การสร้างโครงข่ายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม(Relink) และการสร้างการรับรู้ใหม่(Rebrand) พัฒนาพื้นที่ว่างกลางแจ้งให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก เพื่อสร้างโครงข่ายพื้นที่สีเขียวภายในย่าน และเป็นที่พักคอยของผู้สัญจรไปมาภายในย่าน ให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมสำหรับเยาวชน คนทำงาน กลุ่มจักรยาน ชุมชน หรือครอบครัว”

 

 

หลังพิธีเปิด คณะทำงานโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง โดย”จริณทิพย์ ลียวานิช” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผน TCDC ผศ.ดร.พีรดร แก้วลาย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. และ”ขวัญ พงษ์หาญยุทธ” จากบริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด ร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัย”ถอดรหัสย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง” โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมให้ความคิดเห็นและเสนอแนะอีกรอบ

 

 

ซึ่งคณะทำงานได้ถอดบทเรียนโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง ที่ดำเนินการมา 1 ปี พัฒนาขึ้นเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม(Co-Create Model) ขึ้น ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ เพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่เอื้อประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านธุรกิจ การออกแบบ และการจัดกิจกรรมของชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อนมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ชุมชนและพื้นที่โดยรอบได้ต่อไป

 

 

โดยผศ.ดร.พีรดร กล่าวตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแนวคิดใหม่ เพ่งความสนใจสู่เชิงพื้นที่ คือ เมืองหรือย่านที่ยังเติบโตมีชีวิตชีวาอยู่ได้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังของกลุ่มนักสร้างสรรค์สามารถเพิ่มมูลค่าและศักยภาพสินทรัพย์ท้องถิ่น ให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจกระแสใหม่ ความคิดสร้างสรรค์จะยกระดับคุณภาพชีวิตของย่านและเปลี่ยนพื้นที่เมืองด้วยบรรยากาศสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศต่อไป

 

 

จากการศึกษา 41 ย่านสร้างสรรค์ทั่วโลก คณะทำงานเลือกมา 10 แห่งเป็นต้นแบบการศึกษา เพื่อฟื้นฟูศักยภาพของย่านขึ้นมาใหม่ โดยหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยใช้กระบวนการออกแบบร่วมกัน โดยทำกิจกรรมสร้างสรรค์แบบกลุ่มหลายรูปแบบกว่า 20 ครั้งทุกขั้นตอนการดำเนินการ จนสังเคราะห์ประเด็นสำคัญของย่าน ทั้งปัญหา โอกาส ความเข้าใจเชิงลึก ความต้องการ จนตกผลึกเป็นแนวคิดในการพัฒนา ที่ต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ร่วมออกแบบ ตลอดจนทำแบบจำลองขนาด 1:1 บนพื้นที่จริง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมทดสอบและประเมินโครงการต้นแบบ

 

 

โดยได้เลือกทำ 5 แผนงานนำร่อง ได้แก่

 

 

1.การพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมน้ำ โดยทดลองใช้พื้นที่เอกชนหน้าอาคารเก่าแก่บ.อีสต์ เอเซียติก พร้อมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ ปลุกกิจกรรมและความมีชีวิตชีวาในพื้นที่ขึ้นมา

 

 

2.แผนงานปรับปรุงอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ออกแบบให้ชั้นล่างเปิดให้เป็นพื้นที่พบปะของคนในชุมชน ชั้นสองพื้นที่ค้าขายอาหาร-น้ำดื่ม ชั้นสามพื้นที่พบปะทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และดาดฟ้าเป็นสวนลอยฟ้า เป็นแนวทางให้เจ้าของห้องแถวที่มีถึง 120 ห้องในพื้นที่โครงการที่ปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือไม่เต็มศักยภาพ ได้พิจารณาตัดสินใจต่อไป

 

 

3.พื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก ตามรั้วบ้าน พื้นที่ว่างเท่าที่มี เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของพื้นที่สีเขียวที่สอดแทรกเต็มพื้นที่ โครงการทดลองปรับพื้นที่ว่างหน้าอาคารไปรณีย์กลางเป็นพื้นที่สีเขียว เพิ่มร่มเงา ได้รับความสนใจจากคนโดยรอบเข้ามาใช้ประโยชน์ เกิดการพบปะแลกเปลี่ยน ที่สามารถต่อยอดสู่กิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆได้

 

 

4.การทำทางเชื่อมโยงตรอกซอยเป็นโครงข่ายสัญจรรอง โดยเป็นเส้นทางเดินเท้า ทางจักรยาน และรวมกับแผนงานที่

 

 

5.การทำป้ายสัญญลักษณ์บอกเส้นทางและจุดน่าสนใจในย่าน ทำให้เกิดการใช้เส้นทางสายรอง ผู้คนสัญจรแวะเวียนไปมาในพื้นที่เพิ่มขึ้น สร้างการเชื่อมโยงและปลุกเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักขึ้นได้

 

 

ทั้งนี้ คณะทำงานผลักดันว่า จากภาพร่างที่ได้ออกแบบร่วมกันไว้แล้วนี้ หากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนชาวชุมชน จะได้ประกายความคิดเกิดแรงบันดาลใจ นำไปต่อยอดขยายผลในเกิดขึ้นจริง ก็จะสร้างความเคลื่อนไหวสร้างฟื้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ต่อไป รวมทั้งเป็นต้นแบบสำหรับย่านสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก  ฐานเศรษฐกิจ

 

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่

 

 

http://www.thansettakij.com/2016/07/05/66686

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider