เปิดแผนยุทธศาสตร์การเคหะฯ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า ขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน รายได้ระดับกลาง-บน นำร่อง 3 โครงการมูลค่าก่อสร้างกว่า2 พันล้านบาท มั่นใจพลิกโฉมรูปแบบที่อยู่อาศัยการเคหะฯอย่างสิ้นเชิงทั้งการออกแบบและฟังก์ชันการใช้งาน คาดปีนี้สามารถก่อสร้างได้ พร้อมเล็งพัฒนาพื้นที่ร่มเกล้าเป็นโครงการต่อไป
นายสุภัคร ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (ปี 2559-2568) ของการเคหะแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบเมื่อช่วงต้นปี 2559 สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมจำนวน 3,000 หน่วย เงินลงทุน 2,381 ล้านบาท โดยเป็นไปในลักษณะของการขายขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนที่จะให้ครม.ลงมติเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
เบื้องต้นทางกคช.จะดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ดินของกคช.เองใน 3 พื้นที่นำร่องได้แก่ 1.รังสิต-ลำลูกกาคลอง 2 ถนนเสนาฟ้าคราม ห่างจากเส้นทางรถไฟฟ้า 4.5 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 42 ไร่ รวม 820 หน่วย โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส สำหรับเฟสแรกจะพัฒนาเป็นอาคารชุด 4 ชั้น พร้อมลิฟต์โดยสาร จำนวน 30 อาคาร จำนวน 616 หน่วย ขนาดพื้นที่ใช้สอย 27-28 ตารางเมตร ราคา 8.7 หมื่น-8.9 หมื่นบาทต่อตารางเมตร สำหรับในเฟสที่ 2 จะพัฒนาเป็นโครงการแนวราบ ประกอบด้วย ทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ราคา 3 ล้านบาท และบ้านแฝดเชิงอิสระที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเดี่ยว ขนาดที่ดินเริ่มต้น 35 ตารางวา จำนวน 170 หน่วย ราคา 3.5 ล้านบาท
2.โครงการประชานิเวศน์ 3 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ โดยโครงการอยู่ห่างจากเส้นทางรถไฟฟ้าประมาณ 2.5-2.8 กิโลเมตร ซึ่งโครงการนี้จะพัฒนาเป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร 556 หน่วย ขนาดพื้นที่ 25-30 ตารางเมตร ราคาขายประมาณ 4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร หรือ 8.3 แสน-1.2 ล้านบาทต่อหน่วย โดยอาคารชุดในพื้นที่เดียวกันมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบาทต่อตารางเมตร และ 3.โครงการในพื้นที่การเคหะบางปู สมุทรปราการ (สายสีเขียว-ต่อขยายบางปิ้ง-บางปู สวางคนิเวศน์) ซึ่งเป็นโครงการติดถนนสุขุมวิท ขนาด 48 ไร่ โดยเป็นอาคารสูง 8 ชั้น 10 อาคาร จำนวน 1,260 หน่วย พื้นที่ใช้สอย 25-30 ตารางเมตร ราคาขาย 3หมื่น บาทต่อตารางเมตร หรือ 8.3 แสน-9.5 แสนบาทต่อหน่วย
“โครงการที่อยู่อาศัยทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ของกคช.ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น สู่กลุ่มวัยเริ่มทำงานที่มีรายได้ 2 หมื่น-3 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้าเราไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆคนก็จะยึดติดกับรูปแบบเดิมๆของกคช.ที่ต้องทำที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันที่ดินของการเคหะจำนวนมากที่ถือได้ว่ามีศักยภาพสูง หากพัฒนาโครงการเพื่อผู้มีรายได้เพียงอย่างเดียว อาจให้การพัฒนาดินไม่ได้ศักยภาพสูงสุด โดยทุกโครงการที่พัฒนาจะให้มีความสอดคล้องกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ” นายสุภัคร กล่าว
สำหรับเงินทุนในการพัฒนาโครงการดังกล่าว 80% เป็นเงินกู้ยืม และอีก 20% เป็นเงินของการเคหะเอง โดยโครงลำดับถัดไปคือโครงการที่ร่มเกล้า ซึ่งมีที่ดินขนาด 100 ไร่ ตามแผนจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย โครงการแนวราบ โฮมออฟฟิศ ตลอดจนคอมมิวนิตีมอลล์
นายสุภัคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กคช.หันมารุกตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มกลางเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการสร้างรายได้เข้าสู่องค์กร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ยึดตามหลักพันธกิจของกคช. ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้ที่ยังคงสัดส่วน 80-90% สำหรับการขยายตลาดในครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการแย่งมาร์เก็ตแชร์ของภาคเอกชน เนื่องจากกคช.ลงทุนเพียงแค่หลักพันล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละปีอยู่ที่กว่าแสนล้านบาท
อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ครม.มีมติเห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (ปี 2559-2568) แผนปฏิบัติการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 3 ปี (ปี2559-2561) และแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 1 ปี (ปี 2559) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าอยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 1 ปี (ปี 2559) ประกอบด้วย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557-2559 โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2558-2560 โครงการฟื้นฟูเมืองดินแดน โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง” และโครงการบ้านพอเพียงชนบท
เขียนบทความน่าอ่านมากเลย
กำลังตัดสินใจอยู่พอดีเลย ขอบคุณมาจ้าาาาาาาา
เขียนได้ดีมากค่ะ
อ่านเพลินดี ชอบค่ะ